ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมชาย ตันศิริสิทธิกุล

ชื่อเรื่อง/Title: ผลกระทบของอุทกภัยต่อปัญหาสุขภาพจิต

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546. หน้า 199. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

ผลกระทบของอุทกภัยที่ชักจะถูกมองข้ามคือปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งจากการศึกษาของต่างประเทศพบว่าอัตราอุบัติการณ์ของปัญหาสุขภาพจิตในคนที่ประสบเกตการณ์ทางธรรมชาติ ประมาณร้อยละ 42 โดยมีความรุนแรงสูงกว่าประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ประสบปัญหาดังกล่าว กลุ่มโรคทางสุขภาพจิตที่พบมาก คือ post -traumatic stress disorder (PTSD), anxiety, panic, depress และปัญหาอาการทางกาย (medically unexplain) นอกจากนี้ยังพบอัตราการฆ่าตัวตายของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นหลังจากการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยกลุ่มเสี่ยงที่ควรจัดให้มีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพราะจะเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ง่าย คือ เพศหญิง ผู้สูงอายุ วัยรุ่น และโดยเฉพาะผู้ป่วยเก่าที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว ผลของการศึกษาครั้งนี้จึงเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะอย่างอยิ่งกรมสุขภาพจิต ใช้เป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติจากอุทกภัยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลกระทบจากอุทกภัยที่มีผลต่อปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน วิธีการศึกษา เป็นการศึกษานำร่อง (Pilot study) โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง (Cross-sectional study) ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ ประชาชน ต. ดอนหว่าน อ.หัวตะพาน จ. อำนาจเจริญ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ขณะศึกษา จำนวนทั้งหมด 65 คน แต่สมัครใจเข้ารับการประเมินและวิเคราะห์ความเครียดและรับการตรวจจากจิตแพทย์ จำนวน 52 คน ผลการศึกษา พบว่าจากประชาชนที่มารับการประเมินและวิเคราะห์ความเครียด จำนวน 52 คน มีอายุเฉลี่ย 51 ปี ส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 51.9 ซึ่งเป็นเพศหญิงมากที่สุดคือ ร้อยละ 71.2 แต่ไม่พบผู้มารับการประเมินอายุต่ำกว่า 20 ปี ผลการใช้แบบประเมินและวิเคราะห์ความเครียด พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความเครียดระดับปกติมากที่สุด คือ ร้อยละ 51.9 โดยเป็นความเครียดสูงกว่าปกติมาเพียง 5 คน คิดเป็นร้อยละ 9.6 ซึ่งเป็นผู้หญิงทุกคน จากผลการวินิจฉัยของจิตแพทย์ พบว่าประชาชนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตที่ต้องได้รับยาทางจิตเวช จำนวน 29 คน คิดเป็นอัตราความชุกของปัญหาสุขภาพจิต ร้อยละ 55.77 โดยเป็นผู้ป่วยเก่า จำนวน 22 คน และผู้ป่วยใหม่ จำนวน 7 คน ซึ่งถือเป็นอัตราอุบัติการณ์ของปัญหาสุขภาพจิตจากผลกระทบของอุทกภัยคิดเป็นร้อยละ 13.46 โดยมีอาการแสดงที่พบมากที่สุด คือ การนอนไม่หลับ ร้อยละ 34.88 รองลงมา คือ ปวดศีรษะบริเวณขมับและท้ายทอย รวมทั้งมีอาการวิงเวียนศีรษะ ร้อยละ 27.9 นอกจากนี้พบว่าชนิดและปริมาณยาที่ใช้ในการให้บริการมากที่สุด คือ diazepam, Amitriptyline คิดเป็นร้อยละ 77.55 สรุปและข้อเสนอแนะ การศึกษาครั้งนี้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ว่า ประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยมีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะผู้ป่วยเก่า ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐควรจัดการช่วยเหลือให้ครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ

Keywords: อุทกภัย, ปัญหาสุขภาพจิต, สุขภาพจิต, ปัญหาทางจิตเวช, น้ำท่วม, ภัยพิบัติทางธรรมชาติ, ความเครียด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต

Code: 00000083

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -