ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ปราณี ดาโรจน์, จามจุรี อุตรสาร, เทียนทอง บังศรี

ชื่อเรื่อง/Title: ความสามารถทางการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5, พ.ศ.2542

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive Research) เพื่อศึกษาระดับความสามารถทางการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ประชากรที่ทำการศึกษาคือพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 98 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้วิธีการตอบแบบสอบถาม ได้แบบสอบถามกลับคืนมา 86 ชุด คิดเป็นร้อยละ 87.75 ซึ่งประกอบด้วย 5 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ข้อมูลส่วนบุคคล จำนวน 7 ข้อ ส่วนที่ 2 แบบคัดกรองภาวะสุขภาพจิตตามแนวคิดของ Goldberg Health Questionnair 28 (GHQ 28) ฉบับภาษาไทย ซึ่งผ่านการทดสอบแล้วมีค่าความเชื่อมั่น = 0.90 ส่วนที่3 แบบประเมินความรู้ทางการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช จำนวน 12 ข้อ ซึ่งผู้ศึกษาสร้างขึ้นเองโดยผ่านผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบและหาค่าจำแนกรายข้อระหว่าง 0.2-.03 ส่วนที่ 4 แบบประเมินบรรยากาศองค์การตามการรับรู้ จำนวน 28 ข้อ ได้ค่าความเชื่อมั่นตามสูตรสัมประสิทธิอัลฟาของครอนบาค = 0.94 ส่วนที่ 5 แบบประเมินความสามารถทางการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช โดยประยุกต์จากกรอบแนวคิดของ Schwirian จำนวน 39 ข้อ ได้ค่าความเชื่อมั่นตามสูตรสัมประสิทธิอัลฟาของครอนบาค = 0.97 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t-test และหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Pearson’s Product Moment Correlation) ผลที่ได้ 1. ระดับภาวะสุขภาพจิตของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์อุบลราชธานี อยู่ในระดับปกติร้อยละ 89.5 2. บรรยากาศองค์การตามการรับรู้ของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์อยู่ในระดับปานกลาง แต่พบว่าด้านที่รับรู้ว่าควรต้องปรับปรุงมากที่สุด คือด้านพฤติกรรมผู้นำ 3. ระดับความสามารถทางการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ อุบลราชธานี อยู่ในระดับปานกลาง 4. บรรยากาศองค์การตามการรับรู้ของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสามารถทางการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.000) สรุปและข้อเสนอแนะ 1. ผู้บริหารและพยาบาลวิชาชีพของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ควรสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน โดยเฉพาะการปรับปรุงบุคลิกภาพด้านพฤติกรรมผู้นำ 2. ควรมีการจัดทำคู่มือในการกำหนดบทบาท หน้าที่ ของบุคลากรทางการพยาบาลทุกระดับให้ชัดเจน

Keywords: การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช, การพยาบาลจิตเวช, การพยาบาล, พยาบาลวิชาชีพ, พยาบาล

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต

Code: 20142000193

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -