ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กรรณิกา ดุษฎี

ชื่อเรื่อง/Title: ความเครียดและสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดของบุคลากร โรงพยาบาลสวนสราญรมย์

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546. หน้า 200. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

การพัฒนาคุณภาพในการปฏิบัติงานนั้นย่อมอาศัยทรัพยากรในการพัฒนา โดยเฉพาะปัจจัยด้านบุคลากร ซึ่งมีการเผชิญกับสถานการณ์ในการปฏิบัติงานหลายสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด ปัจจัยดังกล่าว เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการให้เกิดความร่วมมือของบุคลากรใน การพัฒนาคุณภาพไปสู่ความสำเร็จ วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระดับความเครียดและสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดของบุคลากร โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ โดยใช้ทฤษฎีความเครียดและการเผชิญความเครียดของลาซารัส และโฟล์คแมน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นบุคลากรของโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จำนวน 294 คน โดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลโดยนัดพบและชี้แจงให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถาม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วยแบบสอบถามระดับความเครียดและสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด สร้างโดยยุพิน ศิรโพธิ์งามและคณะ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS for windows สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ค่าสูงสุด (Maximum) ค่าต่ำสุด (Minimum) การทดสอบค่าความสัมพันธ์ Pearson correlation โดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา (Content analysis) ผลการศึกษา พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.75 ไม่มีความเครียด กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 79.25 มีความเครียดเฉลี่ยระดับปานกลาง (เฉลี่ย 4.75 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2.3) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความเครียด ได้แก่ อายุ และระยะเวลาในการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ มีค่าความสัมพันธ์เชิงลบกับระดับความเครียด จำแนกได้เป็น 4 ประเภท คือ 1. ปัจจัยนำเข้าที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงาน 2. เครื่องมืออุปกรณ์ 3. กระบวนการปฏิบัติงาน 4. ผลการปฏิบัติงาน 5. ผลกระทบจากการปฏิบัติงาน บุคลากรส่วนใหญ่ใช้วิธีการเผชิญความเครียดโดยใช้วิธีการจัดการปัญหาแบบการจัดการกับอารมณ์ ผลการปรับตัวเมื่อเผชิญความเครียดพบว่าบางรายรู้สึกดีขึ้น บางรายมีความเครียดคงเดิม ผลการวิจัยช่วยให้เข้าใจความเครียดของบุคลากรและแนวทางการพิจารณาลดสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด รวมทั้งมีแนวทางการพัฒนา ช่วยเหลือให้บุคลากรมีการเผชิญความเครียด ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อก่อให้เกิดความสุขในการปฏิบัติงาน

Keywords: ความเครียด, ภาวะเครียด, สุขภาพจิต, บุคลากร, โรงพยาบาลสวนสราญรมย์, ระดับความเครียด, จิตวิทยา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: ศูนย์พัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กรมสุขภาพจิต

Code: 00000084

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -