ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จรัมพร วงศ์สิโรจน์กุล

ชื่อเรื่อง/Title: การสำรวจภาวะสุขภาพจิตผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์คนชราของรัฐในกรุงเทพมหานคร 3 แห่ง ปี พ.ศ. 2542

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5, พ.ศ.2542

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์คนชราของรัฐ 3 แห่งในเขตกรุงเทพมหานคร และศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ อายุ เพศ สถานที่ ประเภทการรับบริการ ระยะเวลาเข้ารับบริการที่มีต่อสุขภาพจิตของผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์คนชรา 3 แห่ง การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นรูปแบบของการสำรวจ (Descriptive study , Cross sectional survey) โดยใช้แบบคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตฉบับภาษาไทย (Thai Carnival Health Questionnaires 12) ที่พัฒนามาจาก GHO ของ Goldberg (1972) ซึ่งมีค่าความเชื่อถือได้ และความแม่นตรงในเกณฑ์ดี คือ ความสอดคล้องภายในของคำถาม (Internet consistency) มีค่า Conbach’s Alpha Coefficient ตั้งแต่ 0.84 ถึง 0.94 , Sensitivity ตั้งแต่ร้อยละ 78.1 ถึง 85.3 และ Specificity ตั้งแต่ร้อยละ 84.4 ถึง 89.7 โดยสัมภาษณ์แบบเจาะจงในกลุ่มประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีการรับฟังดี ซึ่งมารับบริการในสถานสงเคราะห์คนชราของกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม จำนวน 3 แห่ง คือ ศูนย์บริการสังคมผู้สูงอายุดินแดง สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค และสถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค 2 กลุ่มตัวอย่าง 271 ราย แล้วประมวลผลข้อมูล โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS.PC โดยวิเคราะห์เชิงพรรณนา (Descriptive analysis) ของตัวแปรต่าง ๆ และความสัมพันธ์ของตัวแปร ด้วยสถิติแสดงจำนวน ค่าร้อยละ และค่า Chi-square เปรียบเทียบความสัมพันธ์ ผลที่ได้ จากการศึกษาผู้สูงอายุ จำนวน 271 ราย เป็นผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค 115 คน (ร้อยละ 42.4) บ้านบางแค 2 58 คน (ร้อยละ 21.4) และสถานบริการทางสังคมผู้สูงอายุดินแดง 98 คน (ร้อยละ 36.2) พบว่าเพศหญิงมีมากกว่าเพศชาย อายุช่วง 70-79 ปี มากที่สุด รองลงมาคือ 60-67 ปี และ 80 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 44.6 , 33.6 และ 21.8 ตามลำดับ) ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มารับบริการแบบประจำ ร้อยละ 64.2 ระยะเวลาที่อยู่ในสถานสงเคราะห์แบบอยู่ประจำมากที่สุดช่วง 2-10 ปี พบร้อยละ 62.3 รองลงมาต่ำกว่าหรือเทียบกับ 1 ปี ร้อยละ 20.6 ส่วนผู้สูงอายุที่มารับบริการแบบไป-กลับ เป็นผู้สูงอายุในสถานบริการทางสังคมผู้สูงอายุดินแดงเพียงแห่งเดียว (ร้อยละ 89.6 ของผู้สูงอายุในสถานบริการทางสังคมผู้สูงอายุดินแดง) ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิต พบว่าสูงถึงร้อยละ 37.6 ส่วนการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการมีปัญหาสุขภาพจิตกับ อายุ เพศ การรับบริการ ระยะเวลาที่รับบริการ และสถานที่รับบริการ พบว่า มีอัตราการมีปัญหาสุขภาพจิตที่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของตัวแปรอายุ (P=0.01) ระยะเวลาที่มารับบริการ (P=0.01) สถานที่รับบริการ 3 แห่ง (P=0.01) ส่วนเพศและการรับบริการไม่มีความแตกต่างของอัตราการมีปัญหาสุขภาพจิต สรุปและข้อเสนอแนะ ข้อมูลปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุมีความสำคัญและเป็นประโยชน์สำหรับการประกอบการวางแผนการดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟูภาวะสุขภาพจิตผู้สูงอายุ และในการศึกษาครั้งต่อไปควรมีการศึกษาตัวแปรอื่น ๆ เพื่อให้ทราบขนาดของปัญหา ระดับความรุนแรงของปัญหา และกลุ่มอาการของปัญหาสุขภาพจิตด้วย

Keywords: ภาวะสุขภาพจิต ผู้สูงอายุ คนชรา สุขภาพจิต mental health

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: กองแผนงาน กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201420005165

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -