ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ปริทรรศ ศิลปกิจ, วนิดา พุ่มไพศาลชัย, พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์

ชื่อเรื่อง/Title: ความชุกและภาวะสุขภาพจิตของคนไทยที่ติดสุรา

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5, พ.ศ.2542

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ 1. เพื่อสำรวจความชุกของการติดสุราในคนไทยและภาวะสุขภาพจิตในรูปของความเครียด,อาการซึมเศร้า ความคิดอยากฆ่าตัวตาย และความคิดอยากฆ่าผู้อื่น 2. เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการติดสุราในคนไทย วิธีการ 1. กลุ่มตัวอย่างได้จากการสุ่มและกลุ่มหลายขั้นตอน (Multi-stage cluster sampling) จาก 12 เขตทางสาธารณสุขทั่วประเทศในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2541 กลุ่มตัวอย่างเป็นชาย ร้อยละ 14.3 เป็นหญิงร้อยละ 65.7 อายุอยู่ระหว่าง 17-87 ปี (เฉลี่ย 38.9 ปี) สถานภาพสมรสร้อยละ 76.0 แต่งงานแล้ว ร้อยละ 31.8 มีบุตรตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ร้อยละ 64.8 มีการศึกษาในระดับประถมศึกษา อาชีพหลัก ร้อยละ 50.3 เป็นเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 67.1 มีรายได้ไม่เกิน 3,000บาท/เดือน ร้อยละ 23.6 มีสถานะทางการเงินอยู่ในระดับไม่พอใช้ต้องพึ่งอาศัยผู้อื่นหรือต้องกู้ยืมจากคนอื่น ร้อยละ 52.9 มีภาระต้องรับผิดชอบทางด้านการเงินต่อบุคคลอื่นร้อยละ 77.2 จะมีบ้านหรือที่ดินเป็นของตนเอง ร้อยละ 71.8 อาศัยอยู่ในบ้านของตนเอง ร้อยละ 75.1 จะมีคนอาศัยอยู่ในบ้านตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป 2. เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย 5 ส่วน คือ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบคัดกรอง CAGE แบบวัดความเครียดสวนปรุง แบบวัดอาการซึมเศร้าของเบค แบบสำรวจความคิดอยากฆ่าตัวตายและคิดฆ่าผู้อื่น สถิติที่ใช้ Chi-square ผลที่ได้ จากการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 9.3 อยู่ในเกณฑ์ที่จะติดสุราอีก ร้อยละ 8.3 เข้าข่ายน่าสงสัย จังหวัด เขต หรือภาคที่แตกต่างกันจะมีอัตราการติดสุราต่างกัน (P‹0.05) โดยจังหวัดที่มีอัตราการติดสุราสูงสุดคือ บุรีรัมย์ ร้อยละ 13.7 ต่ำสุดคือ อุบลราชธานี ร้อยละ 2.8 เขตที่ติดสุราสูงสุดคือ เขต 3 ร้อยละ 13.7 ต่ำสุดคือเขต 11 ร้อยละ 4.9 ภาคที่ติดสุราสูงสุดคือ ภาคตะวันออก ร้อยละ 13.7 ต่ำสุดคือภาคใต้ ร้อยละ 5.2 ร้อยละ 38.2 ความเครียดอยู่ในระดับรุนแรง ร้อยละ 38.1 มีอาการซึมเศร้าอยู่ในระดับที่ถือว่าควรไปพบแพทย์ร้อยละ 7.6 มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ร้อยละ 5.4 มีความคิดอยากฆ่าผู้อื่น โดยเมื่อมองเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในเกณฑ์ติดสุราแล้ว ร้อยละ 51.2 ของคนที่ติดสุราจะมีความเครียดอยู่ในระดับสูงถึงรุนแรง ร้อยละ 48.6 มีอาการซึมเศร้าในระดับที่ต้องไปพบแพทย์หรือผู้รู้ ร้อยละ 11.9 จะมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ร้อยละ 11.3 จะมีความคิดอยากฆ่าผู้อื่น ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการติดสุราคือ เพศชาย คนโสด ไม่มีบุตร การศึกษาระดับมัธยมหรือประกาศนียบัตร อาชีพเกษตรกร สถานะการเงินไม่พอใช้ ไม่มีบ้านเป็นของตนเอง ต้องอาศัยญาติอยู่ ครอบครัวที่ทะเลาะถึงขั้นทำร้ายกัน ภาวะเครียดสูง ภาวะซึมเศร้าสูง การมีความคิดอยากฆ่าตัวตายและคิดอยากฆ่าผู้อื่น (p<0.05) สรุปและข้อเสนอแนะ อัตราการติดสุรามีความสัมพันธ์กับภาวะเครียดและอาการซึมเศร้าสูง (p<0.05) อาจเป็นเพราะว่าประชาชนส่วนหนึ่งเมื่อมีปัญหาทางจิตใจขึ้นแล้วใช้การดื่มสุราเป็นทางออก ซึ่งเป็นวิธีการจัดการกับปัญหาทางสุขภาพจิตในลักษณะที่อาจก่อปัญหาอย่างอื่นตามมาในภายหลัง ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตควรจะส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักนำวิธีการจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในรูปแบบที่สร้างสรรค์มาใช้ให้มากขึ้น

Keywords: ความชุก, ภาวะสุขภาพจิต, ไทย, สุรา, เหล้า, สุขภาพจิต, ระบาดวิทยา, Thai epidemiology, epidemic, prevalence, alcohol, mental health

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201420005166

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -