ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วราภรณ์ ตั้งตรงไพโรจน์

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดเป็นซ้ำของโรคจิตเภทในสถาบันประสาทวิทยา

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5, พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ให้บริการผู้ป่วยโรคระบบประสาทและจิตเวช พบว่ามีผู้ป่วยมารับการรักษาและกลับเป็นซ้ำอยู่เป็นจำนวนหนึ่ง การศึกษาปัจจัยต่าง ๆ น่าจะมีประโยชน์ในการนำมาใช้ในการป้องกันการเกิดซ้ำของโรคจิตเภท ซึ่งจะช่วยลดปัญหาและภาระทั้งทางด้านสาธารณสุข สังคมและครอบครัว วิธีการศึกษาโดยการตรวจร่างกาย ตรวจสภาพจิตผู้ป่วยและวินิจฉัยโรคตาม ICD-10 รหัส F20 ในผู้ป่วยจิตเภทที่มารับบริการที่สถาบันประสาทวิทยา โดยมีเกณฑ์ดังนี้คือ มารับการรักษาสม่ำเสมอต่อเนื่องมากกว่า 2 ปี เป็นผู้ป่วยจิตเภทที่มีอาการกลับเป็นซ้ำ 100 ราย (case) และเป็นผู้ป่วยจิตเภทที่ไม่มีอาการกลับเป็นซ้ำ 100 ราย (Control) และให้ผู้ป่วยตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ รูปแบบการศึกษาเป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์ case-control study โดยอธิบายค่าความเสี่ยง odd ratio ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ผลที่ได้ ผู้ป่วยจิตเภททั้ง case และ control มีการกระจายของข้อมูลใกล้เคียงกันทั้งเพศ อายุเฉลี่ย รายได้เฉลี่ยต่อเดือน มีภูมิลำเนาส่วนใหญ่ในกรุงเพทมหานคร เป็นโสด ระดับการศึกษาประถม 6 อาชีพรับจ้างทั่วไป และไม่มีปัญหาเศรษฐกิจ ปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมทั้ง case และ control ส่วนใหญ่มีพี่น้องมากกว่า 3 คน เป็นบุตรคนกลาง ไม่มีประวัติแฝด และไม่มีประวัติป่วยทางจิตเวชในครอบครัว ข้อมูลการดำเนินโรคทั้ง case และ control ส่วนใหญ่มีบุคลิกภาพแบบ introversion พบอาการเริ่มป่วยในวัยผู้ใหญ่ อาการขณะป่วยเป็นแบบ positive symptoms onset พบในเวลามากกว่า 6 เดือน ผู้ป่วยจิตเภทที่ใช้กลไกทางจิตที่ไม่มีความสุข (Unhealthy) มีความเสี่ยงต่อการเกิดเป็นซ้ำของโรคจิตเภทมากกว่าผู้ป่วยที่ใช้กลไกทางจิตที่มีความสุข 2.46 เท่า ผู้ป่วยจิตเภทที่ตอบสนองต่อยาไม่ดีมีความเสี่ยงต่อการเกิดเป็นซ้ำของโรคจิตเภทมากกว่าผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อยาดี 1.31 เท่า ผู้ป่วยจิตเภทที่กินยาไม่สม่ำเสมอมีความเสี่ยงต่อการเกิดเป็นซ้ำของโรคจิตเภทมากกว่าผู้ป่วยที่กินยาสม่ำเสมอ 17.67 เท่า ปัจจัยเสี่ยงที่เหลือคือประวัติป่วยโรคจิตเวชในครอบครัว อาการขณะป่วยและวัยขณะป่วยล้วนไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเป็นซ้ำของโรคจิตเภท สรุปและข้อเสนอแนะ โรคจิตเภทเป็นโรคเรื้อรังและมีอุบัติการณ์ร้อยละ 1 ทั่วโลกขณะนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และมีจำนวนมากที่กลับเป็นซ้ำ แต่พบว่ามีหลายปัจจัยเสี่ยงที่น่าจะนำมาใช้ประโยชน์เพื่อลดการกลับเป็นซ้ำ ควรมีการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงอื่นเพื่อนำมาใช้ป้องกันการเกิดเป็นซ้ำของโรคจิตเภท การนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการทำกลุ่มจิตบำบัดผู้ป่วยและญาติเพื่อให้เกิดความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วย และควรจัดทำสื่อข้อมูลเกี่ยวกับโรคจิตเภทและการป้องกันการเกิดเป็นซ้ำ

Keywords: ปัจจัยเสี่ยง, โรคจิตเภท, จิตเภท, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, relap, psychiatry, schizophrenia, psychosis

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201420005167

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -