ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วัชระ เอี่ยมรัศมีกุล, ณัฐชา รอบดูดี, อิ่มใจ สุอนันตา

ชื่อเรื่อง/Title: โครงการเยาวชนอาสา ต้านยาเสพติด เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 15 กค.-4 สค. 2542

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5, พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ ปัญหายาเสพติดในพื้นที่อำเภอพนมไพร ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โรงพยาบาลพนมไพร จึงได้จัดทำโครงการเยาวชนอาสา ต้านยาเสพติด เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ขึ้นเพื่อให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเน้นกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาของโรงเรียนในพื้นที่และเป็นกิจกรรมในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ 6 รอบ วิธีการ ใช้การศึกษาเชิงปฏิบัติการโดยการระดมสมองระดับอำเภอ การแต่งตั้งคณะทำงานและวิทยากร กำหนดหลักสูตรและกิจกรรม ได้แก่ การจัดหาสมาชิก ชี้แจงนักเรียนและผู้ปกครอง การจัดระบบค่ายแบบประยุกต์ การตรวจสุขภาพ กลุ่มสัมพันธ์ จิตบำบัดกลุ่มการฝึกวิชาชีพ การอบรมวิชาการ อบรมธรรมะ ทัศนศึกษา นันทนาการและกีฬา ระยะเวลา 21 วัน ประเมินผลจากพฤติกรรมของเยาวชน การตรวจปัสสาวะ การสอบถามวิทยากร ความคิดเห็นของผู้ปกครองและชุมชน โดยการสังเกตอย่างเป็นระบบ การสัมภาษณ์เชิงลึก และการประชุมกลุ่ม ผลที่ได้ จากตัวอย่างปัสสาวะ 451 ตัวอย่างพบผลบวกยืนยัน 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.00 เป็นนักเรียนที่โรงเรียนไม่มีประวัติมาก่อน 5 ราย ร่วมกับนักเรียนที่มีประวัติใช้และจำหน่าย รวมนักเรียนที่เข้าโครงการ 31 คน เป็นเพศชายทั้งหมด อายุเฉลี่ย 17.84 ปี (S.D. = 0.45, พิสัย 17-19 ปี ) ระดับชั้นเรียนตั้งแต่ ม.4-6 ส่วนใหญ่พักอาศัยอยู่กับบิดามารดาและมีรายได้พอเพียง ลักษณะการใช้ยาเสพติดเป็นยาบ้าอย่างเดียว 1 ราย ยาบ้าร่วมกับบุหรี่และสุรา 29 ราย ยาบ้าร่วมกับบุหรี่และกัญชา 1 ราย ระยะเวลาที่เสพมานาน 1.61 ปี (S.D. = , พิสัย 1-4 ปี) อายุที่เริ่มเสพ 16-16 ปี (S.D. 0.82,พิสัย 14.17 ปี) ปริมาณการใช้ยามากที่สุดวันละเม็ด 10 คน น้อยที่สุด 2 เดือนต่อเม็ด 1 คน กิจกรรมที่วิทยากรเห็นว่าสำคัญได้แก่ การจัดค่ายที่พัก การตรวจค้นก่อนเข้าค่าย ระเบียบการเยี่ยม การตรวจค้นผู้มาเยี่ยมและสิ่งของที่นำมาเยี่ยม กิจกรรมที่เยาวชนเห็นว่ามีประโยชน์ ได้แก่ การออกกำลังกาย การเข้าร่วมกิจกรรม สรุปและข้อเสนอแนะ การดำเนินการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดสารเสพติดในระดับอำเภอที่ไม่มีศูนย์บำบัดถาวร สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอาศัยความร่วมมือของภาคราชการกับภาคเอกชนทุกส่วน งบประมาณสนับสนุนและความเสียสละของวิทยากร ข้อเสนอแนะจากโครงการนี้คือ 1. การตรวจปัสสาวะ เมื่อเริ่มโครงการเป็นสิ่งจำเป็น 2. การจัดโครงการช่วงปิดเทอมจะมีความเหมาะสมมากขึ้น 3. ต้องมีการติดตามเยาวชนในระยะยาว 4. การให้เยาวชนอาสาเป็นแนวร่วมในการต่อต้านยาเสพติด ในโรงเรียนและชุมชน 5. ควรมีมาตรการเพิ่มขวัญกำลังใจของวิทยากร และ 6 ควรให้องกรค์ท้องถิ่นเช่น อบต. มีส่วน ร่วมในด้านงบประมาณดำเนินการ

Keywords: ยาเสพติด, สารเสพติด, วัยรุ่น, โครงการเยาวชนอาสา, นักเรียน, drug, adolescent, addict, abuse

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลพนมไพร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201420005171

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -