ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุนันท์ ดวงจันทร์

ชื่อเรื่อง/Title: การป้องกันความรุนแรงที่มีต่อสตรีและเด็กในครอบครัว โครงการป้องกันความรุนแรงที่มีต่อสตรีและเด็ก

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5 , พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ปรากฏการณ์ที่สตรีและเด็กถูกคุกคามทั้งทางร่างกาย ทางเพศ และทางจิตใจ พบมากขึ้น ไม่ว่าในเรื่อง การถูกข่มขืน การทารุณกรรม การละเมิดสิทธิทางเพศ โดยเฉพาะหากเกิดในครอบครัวมักไม่กล้าแจ้งความ การเข้าช่วยเหลือเข้าถึงลำบาก ประชาชนและชุมชนยังไม่ตระหนักถึงปัญหาและยังไม่มีส่วนร่วมในการดำเนินการป้องกันและช่วยเหลือ ประกอบกับค่านิยมทางเพศที่มองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ สถาบันครอบครัวอ่อนแอลง ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย ผู้ให้บริการของรัฐ โดยเฉพาะตำรวจมีทัศนคติและการปฏิบัติต่อสตรีที่ถูกละเมิดในทางไม่เหมาะสม การดำเนินงานขาดการประสานงาน สมาคมวางแผนครอบครัวฯ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิในด้านอนามัยการเจริญพันธ์ (Reproductive Right) มาโดยตลอดโดยเฉพาะหลังจากการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องประชากรกับการพัฒนา และการประชุมเรื่องสตรี ประเด็นของการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบขององค์การสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาด้วย สมาคมฯ จึงได้ร่วมดำเนินการป้องกันความรุนแรงที่มีต่อสตรีและเด็กร่วมกับองค์กรเครือข่ายที่ทำงานด้านสตรี เด็ก ภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จาก 4 ภูมิภาค คือ กรุงเทพ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา วัตถุประสงค์ เพื่อป้องกันความรุนแรงที่มีต่อสตรีและเด็กในครอบครัวที่รายได้น้อย โดยยึดหลักว่า มนุษย์ควรได้รับสิทธิในการปกป้องความปลอดภัยตนเอง ส่วนหนึ่งเป็นสิทธิด้านอนามัยการเจริญพันธ์ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังนี้ 1. สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนร่วมป้องกันปัญหาความรุนแรงที่มีต่อสตรีและเด็ก 2. เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรสตรีและเด็ก โดยเตรียมการป้องกันปัญหาความรุนแรงที่มีต่อสตรีและเด็กในเมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา 3. ให้ความรู้ในเรื่องการป้องกันความรุนแรงที่มีต่อสตรีและเด็กที่ถูกละเมิดทางเพศ ป้องกันความเสี่ยงต่อปัญหาและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น 4. ให้บริการปรึกษาปัญหาความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก อนามัยการเจริญพันธ์ในคลินิกของสมาคมฯ ในภาคต่าง ๆ ส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิธีการ ดำเนินการร่วมกับองค์กรเครือข่ายในแต่ละภูมิภาค โดย 1. จัดสัมมนาเพื่อวิเคราะห์ปัญหาสถานการณ์และผลกระทบของความรุนแรง 2. ประชุมจัดตั้งเครือข่ายและอบรมเครือข่าย 3. อบรมผู้นำ ผู้นำสตรีและผู้นำเยาวชน เพื่อเผ้าระวังในการป้องกันความรุนแรง 4. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การป้องกันความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ครอบครัวและประชากรในพื้นที่ 5. สนับสนุนให้เครือข่ายจัดกิจกรรมรณรงค์ในชุมชน/พื้นที่ 6. อบรมเทคนิคและกระบวนการให้การปรึกษาปัญหาความรุนแรง 7. จัดทำคู่มือสำหรับอาสาสมัคร 8. รณรงค์สร้างความตระหนักโดยใช้สปอตวิทยุ 9. ให้บริการปรึกษาปัญหาทางโทรศัพท์ และมาด้วยตนเอง 10. ประเมินผล ผลที่ได้ 1. มีองค์กรเครือข่ายที่ทำหน้าที่ป้องกันความรุนแรงต่อสตรีและเด็กเกิดขึ้นใน 4 จังหวัด (กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่นและสงขลา) และสามารถเป็นแกนนำได้ 2. กลุ่มเป้าหมายตระหนักถึงสิทธิสตรีและเด็ก 3. ผู้นำสตรี ผู้นำชุมชนและผู้นำเยาวชน ที่ผ่านการอบรม อาสาสมัคร สามารถร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น และองค์กรที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งสามารถเป็นผู้ประสานงาน และเผยแพร่จูงใจในการป้องกันความรุนแรง 4. สามารถวางแผนครอบครัวฯ จะถ่ายทอดประสบการณ์จากการทำงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปและข้อเสนอแนะ 1. ได้ทราบสถานการณ์ ความรุนแรง ผลกระทบในแต่ละภูมิภาคเพิ่มขึ้น 2. การดำเนินโครงการควรร่วมกับองค์กรชุมชน องค์กรสตรี เด็กทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ 3. ภาครัฐ ควรมีแผนและมีการปฏิบัติเพื่อการป้องกันความรุนแรงที่ชัดเจน 4. ควรสนับสนุนงบประมาณและวิชาการให้กับองค์การพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการป้องกันและช่วยเหลือปัญหาความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง 5. สร้างค่านิยมในเรื่องเพศ หรือความเชื่อที่ผิด ๆ ที่ทำให้สตรีและเด็กได้รับผลกระทบจากความรุนแรง 6. หลักสูตรการศึกษาในเรื่องเพศศึกษา สิทธิสตรีและสิทธิมนุษยชนควรได้รับพิจารณานำสู่การปฏิบัติ 7. ระบบบริการของรัฐควรให้มีบริการครบวงจร หากมีกรณีถูกละเมิดทางเพศ การข่มขืน ไม่ว่าการแจ้งความ การรักษาพยาบาล การสังคมสงเคราะห์ หรือการช่วยเหลืออื่น ๆ ควรอยู่ในบริเวณเดียวกันหรือมีเครือข่ายที่ชัดเจน 8. อิทธิพลของสื่อลามก สถานเริงรมย์ การเสพสุรา ยาเสพติด หรือสิ่งที่เป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง รัฐควรควบคุมอย่างจริงจัง 9. ควรสร้างอาสาสมัคร สร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบ ความตระหนักให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการเฝ้าระวังในชุมชนของตนเอง 10. จัดให้มีการสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์สภาพปัญหาและติดตามผลในแต่ละระดับ

Keywords: ความรุนแรง สตรีและเด็ก การละเมิดสิทธิทางเพศ การทารุณกรรม ครอบครัว ข่มขืน ความรุนแรงในครอบครัว, violence, child, abuse, family

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

Code: 201420005175

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -