ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ไพลิน โพธิ์สุวรรณ์, วัชนี หัตถพนม, สุวดี ศรีวิเศษ, ศิริวรรณ ฤกษ์ธนะขจร, สุภาณี กิตติสารพงษ์, ระพีพร แก้วคอนไทย, อัจฉรา มุ่งพานิช, สุริยา ราชบุตร, ไพรวัลย์ ร่มซ้าย

ชื่อเรื่อง/Title: การประเมินผลโครงการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในชุมชน อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5 , พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ ได้ริเริ่มจัดโครงการนี้ที่อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามากที่สุดของจังหวัด จึงได้จัดโครงการเพื่อป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ ทัศนคติที่ดีต่อการช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในชุมชนและสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติจริงเพื่อช่วยเหลือผู้มีปัญหาได้ วิธีการ โดยการจัดอบรม เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จำนวน 31 คน อ.ส.ม. 55 คน จำนวน 2 รุ่น ๆ ละ 1 วัน ในวันที 4 – 5 มีนาคม 2542 หลังจากนั้น ให้ผู้เข้าอบรมนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติจริงในชุมชน และประเมินผลการปฏิบัติงานหลังอบรม 2 และ 4 เดือน และมีการประเมินผลโครงการในภาพรวมด้วย จากนั้นนำข้อมูลที่ได้รับมาแจกแจงความถี่ ร้อยละ และใช้สถิติ t – test เพื่อทดสอบความรู้ และทัศนคติของผู้เข้ารับการอบรม เปรียบเทียบก่อนและหลังการอบรม ผลที่ได้ ผลการจัดอบรมพบว่าทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อ.ส.ม. มีความรู้ก่อน และหลังการอบรมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 1.004) สำหรับผลการปฏิบัติงาน หลังอบรมไปแล้ว 4 เดือน พบว่าสามารถช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้จำนวน 8 คน และยังมีชีวิตอยู่ดำเนินชีวิตได้ตามปกติทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบสถิติการฆ่าตัวตาย ( ในหมู่บ้าน อ.ส.ม. เข้ารับการอบรมตามโครงการนี้)ของปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า ฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 7 คน สรุปและข้อเสนอแนะ เป็นโครงการที่ดีถ้าพิจารณาจากผลสัมฤทธิ์ของโครงการและควรขยายผลในการดำเนินโครงการในพื้นที่ที่กลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง ในการขยายผลอาจจัดอบรมและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและให้เจ้าหน้าที่ไปอบรม อ.ส.ม.ต่อไป แต่สำหรับโครงการนี้ที่จัดอบรม อ.ส.ม.ด้วย เนื่องจากต้องการทราบปัญหาที่เกิดขึ้นกับ อ.ส.ม. ขณะปฏิบัติงาน พบว่า อ.ส.ม. ต้องการความรู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมจากหลักสูตรที่ให้ และบางพื้นที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่ทราบว่ามีผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่งต้องเฝ้าระวัง และให้การช่วยเหลือ

Keywords: การฆ่าตัวตาย, ฆ่าตัวตาย, ชุมชน, โรคซึมเศร้า, กลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, suicide, depress, depression, community psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201420005176

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -