ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ธีราภา ธานี, สุรีภรณ์ สมคะเณย์

ชื่อเรื่อง/Title: การมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันและช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะเสี่ยงและพยายามฆ่าตัวตายในเขตชนบท จังหวัดอุบลราชธานี

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5 , พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ การศึกษาเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ เพื่อศึกษาองค์ประกอบต่าง ๆ ปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ปัจจัยเกื้อหนุนทางสังคม และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันและช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะเสี่ยงและพยายามฆ่าตัวตายในชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดยการคัดเลือกพื้นที่ในการศึกษาวิจัยเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ปลอดจากการพยายามฆ่าตัวตายและฆ่าตัวตาย แล้วทำการเก็บข้อมูลเป็นเชิงคุณภาพ ซึ่งใช้เครื่องมือ คือ แบบสัมภาษณ์เชิงลึก สำหรับสัมภาษณ์กลุ่มแกนนำและประชาชนทั่วไป แบบสัมภาษณ์เชิงลึกสำหรับบุคคลที่พยายามฆ่าตัวตายและญาติที่เกี่ยวข้องประเด็นห้วข้อสนทนากลุ่มใช้เก็บข้อมูลกลุ่มประชาชนทั่วไป และแบบสังเกตการมีส่วนร่วมและการดำเนินชีวิตของประชาชนซึ่งเก็บข้อมูลในช่วงเดือนเมษายน – กรกฎาคม 2542 การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) เปรียบเทียบข้อมูลระหว่างพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ปลอดโดยยกคำพูด (Quotation) ของผู้ถูกสัมภาษณ์เพื่อเกิดความชัดเจนในข้อมูล ผลที่ได้ พบว่า 1. องค์ประกอบของชุมชนที่มีผลต่อการป้องกันและช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการพยายามฆ่าตัวตาย คือ ลักษณะของการตั้งบ้านเรือนที่ติดต่อสังคมภายนอกได้หลายทาง ลักษณะของการปลูกบ้านที่ไม่กระจัดกระจาย ลักษณะของครอบครัวขยาย ลักษณะของการตั้งองค์กรช่วยเหลือด้านการเงินในระบบภายในหมู่บ้าน และลักษณะการปกครองที่ประชาชนมีส่วนร่วม 2. ปัจจัยเสี่ยงทางสังคม คือ ค่านิยมด้านวัตถุทำให้เกิดการแข่งขันและการขัดแย้งของผู้นำชุมชนกับประชาชนที่เรื้อรัง 3. ปัจจัยเกื้อหนุนทางสังคมและการมีส่วนร่วม คือ การสื่อสารและสัมพันธภาพระหว่างคนในครอบครัว การพึ่งพาตนเองของชุมชน การมีส่วนร่วมขององค์กรของรัฐที่สม่ำเสมอและความตระหนักของชุมชนต่อปัญหาการฆ่าตัวตาย ข้อเสนอแนะ 1. ควรสนับสนุนให้มีการตั้งองค์กรในหมู่บ้าน โดยประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาตนเอง 2. เจ้าหน้าที่ของรัฐในส่วนต่าง ๆ ควรมีบทบาทในการสนับสนุนกิจกรรมของประชาชนที่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ 3. ส่งเสริมให้ชุมชนได้ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิตโดยพัฒนาองค์กรผู้นำทางธรรมชาติในการนำเอาความรู้ไปช่วยป้องกัน ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน 4. ควรศึกษาเชิงปฏิบัติการถึงรูปแบบที่เหมาะสมในการดูแลช่วยเหลือ ป้องกันผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการพยายามฆ่าตัวตายและฆ่าตัวตาย

Keywords: การฆ่าตัวตาย, ฆ่าตัวตาย, ชุมชน, โรคซึมเศร้า, กลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, suicide,suicidal attempt, depress, depression, community psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201420005177

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -