ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมชาย จักรพันธุ์ ม.ล., สุชาดา สาครเสถียร, อมรากุล อินโอชานนท์, วิไล เสรีสิทธิพิทักษ์, พนมศรี เสาร์สาร, ภัคนพิน กิตติรักษนนท์, อลิสา อุดมวีรเกษม

ชื่อเรื่อง/Title: พฤติกรรมฆ่าตัวตายและกลไกป้องกันการฆ่าตัวตายในชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5 , พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. วัตถุประสงค์เฉพาะหน้า (immediate objective) ได้แก่ 1.1. เพื่อศึกษาความคิด ความรู้สึก อารมณ์ แรงจูงใจ และพฤติกรรมของผู้พยายามฆ่าตัวตาย 1.2. เพื่อศึกษารูปแบบการดำเนินชีวิต และการเผชิญปัญหาของผู้พยายามฆ่าตัวตาย 1.3. เพื่อค้นหาปัจจัยที่มีผลต่อการยับยั้งพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย (Protective factors) 2. วัตถุประสงค์บั้นปลาย (ultimate goal) เพื่อพัฒนารูปแบบการป้องกันการฆ่าตัวตาย เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้นำชุมชน ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายและสมาชิกในครอบครัวทุกหลังคาเรือนในชุมชน ผลที่ได้ ผู้พยายามฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มีลักษณะอารมณ์ร้อน มีความรับผิดชอบสูง เก็บกดปัญหาและเรื่องทุกข์ใจไว้กับตัวเอง มีบาดแผลใจในอดีต ก่อนลงมือฆ่าตัวตายจะมีความคิดแบบ Tubular view คือหาทางออกไม่เจอ มืดไปหมด มีอารมณ์โกรธและคับแค้นใจ มีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ไร้คุณค่า มีการสื่อสารให้คนในครอบครัวได้รับรู้ถึงความคิด ความรู้สึก และความต้องการที่แสดงออกมาในรูปของคำพูดสั่งเสียหรือคำพูดเปรย ๆ สิ่งเร้า สิ่งกระตุ้นให้ลงมือฆ่าตัวตาย คือการทะเลาะวิวาท มีการใช้คำพูดที่รุนแรง หมิ่นเกียรติ ทำให้รู้สึกเสียศักดิ์ศรี ลดความนับถือ เสียความภาคภูมิใจในตัวเอง หรือเป็นคำพูดที่นึกไม่ถึงว่าจะได้ยินจากคนใกล้ชิด และหลังจากมีการพยายามฆ่าตัวตาย คนใกล้ชิดและคนในชุมชนจะไม่พูดถึงเรื่องนี้ และไม่พูดถึงปัญหาที่ทำให้ลงมือฆ่าตัวตาย เพราะกลัวจะเป็นการซ้ำเติม กลัวอีกฝ่ายจะไม่สบายใจ ทำให้ไม่มีการพูดคุยกันเพื่อแก้ปมปัญหา และไม่พบปัจจัยยับยั้งก่อนลงมือฆ่าตัวตายแต่อย่างใด สรุปและข้อเสนอแนะ คนที่พยายามฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มีอดีตชีวิตที่เจ็บปวด แม้ว่าจะสามารถรับรู้อารมณ์ และเข้าใจอารมณ์ของตนเอง แต่ไม่มีใครสามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ ดังนั้น จึงควรมีการสนับสนุนให้มีบริการปรึกษาสุขภาพจิตและครอบครัวในชุมชนให้มากขึ้น และพัฒนาคนในชุมชนให้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (emotional quotient) ให้มากขึ้น

Keywords: การฆ่าตัวตาย, ฆ่าตัวตาย, ชุมชน, โรคซึมเศร้า, พฤติกรรม, พฤติกรรมการฆ่าตัวตาย, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, suicide, depress, depression, community psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201420005178

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -