ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พินลดา มุลาลี และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อ แม่และคนไข้โรคจิตเภท

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5, พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับคนไข้โรคจิตเภทในวัฒนธรรมอีสาน กลุ่มตัวอย่างเป็น พ่อแม่ของผู้ป่วยเก่าและพ่อแม่ผู้ป่วยใหม่ ของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น จำนวน 403 คน ตอบแบบสอบถามที่สร้างขึ้นโดยศึกษาจาก Scheafer ‘ s basiccombination of parent – child relationships. ตามทฤษฎีของ Scheafer ซึ่งมีความสัมพันธ์ 4 แบบ ได้แก่ ความสัมพันธ์แบบยอมรับ แบบควบคุม แบบละเลย และแบบปกป้องมาก วิธีการ เป็นการศึกษาเชิงบรรยายประเภทสำรวจเพื่อมุ่งเน้นหารูปแบบความสัมพันธ์ผู้ป่วยโรคจิตเภทในสังคมวัฒนธรรมอีสาน เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ด้านเดียว คือ พ่อแม่ และผู้ป่วยโรคจิตเภทเพื่อให้ได้ข้อมูลความสัมพันธ์แบบต่าง ๆ มาประกอบการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย โดยสุ่มตัวอย่างจากพ่อแม่ผู้ป่วยใหม่และผู้ป่วยเก่าโรคจิตเภทที่เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น ระหว่าง 1 สิงหาคม 2540 ถึง 31 กรกฎาคม 2541 ทำการสัมภาษณ์พ่อหรือแม่ตามแบบสอบถามที่คณะวิจัยสร้างขึ้น ผลที่ได้ 1. พ่อแม่ของผู้ป่วยใหม่คะแนนของสัมพันธภาพแบบยอมรับกับผู้ป่วยมากที่สุดรองลงมาคือแบบปกป้องมาก แบบควบคุม และแบบละเลย ส่วนพ่อแม่ของผู้ป่วยเก่ามีคะแนนของสัมพันธภาพแบบละเลยกับผู้ป่วยมากที่สุด รองลงมาคือแบบยอมรับ แบบควบคุม และแบบปกป้องมาก 2. คะแนนของสัมพันธภาพแบบยอมรับ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ (p‹0.01>) ระหว่างพ่อแม่ผู้ป่วยเก่า และพ่อแม่ผู้ป่วยใหม่ โดยพบว่าตัวแปรเกี่ยวกับขนาดครอบครัวและรายรับรายจ่ายมีผลต่อคะแนนของสัมพันธภาพแบบยอมรับ โดยคะแนนของสัมพันธภาพแบบยอมรับของพ่อแม่ของผู้ป่วยที่อยู่ในครอบครัวขยาย มีคะแนนสูงกว่าครอบครัวเดี่ยว และคะแนนของสัมพันธภาพแบบยอมรับของพ่อแม่ที่มีรายได้เหลือสะสม จะมีคะแนนสูงกว่าพ่อแม่ที่พอใช้และไม่พอใช้ 3. คะแนนของสัมพันธภาพแบบละเลย มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ (p< 0.01 >) ระหว่างพ่อแม่ผู้ป่วยเก่า และพ่อแม่ผู้ป่วยใหม่ โดยพบว่าตัวแปรเกี่ยวกับขนาดครอบครัวและเพศ มีผลต่อคะแนนของสัมพันธภาพแบบละเลย ซึ่งคะแนนของสัมพันธภาพแบบละเลยของพ่อแม่ผู้ป่วยที่อยู่ในครอบครัวเดี่ยว มีคะแนนสูงกว่าครอบครัวขยาย และคะแนนของสัมพันธภาพแบบละเลยของพ่อแม่ผู้ป่วยชาย มีคะแนนสูงกว่าผู้ป่วยหญิง 4. คะแนนของสัมพันธภาพแบบควบคุม และคะแนนสัมพันธภาพปกป้อง ไม่มีความแตกต่างระหว่างพ่อแม่ผู้ป่วยเก่า และพ่อแม่ผู้ใหญ่ สรุปและข้อเสนอแนะ ความสัมพันธ์ทั้ง 4 แบบ มีแตกต่างกัน โดยครอบครัวขยายมีสัมพันธภาพแบบยอมรับกับผู้ป่วยสูงกว่าครอบครัวเดี่ยว สัมพันธภาพแบบควบคุมพบสูงในครอบครัวที่มีปัญหาด้านค่าใช้จ่าย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมอีสานในครอบครัวขยายจะดูแลรักษายอมรับผู้ป่วยดีกว่าครอบครัวเดี่ยว ส่วนครอบครัวที่มีปัญหาด้านรายได้มีสัมพันธภาพแบบควบคุมสูงกว่าครอบครัวที่ไม่มีปัญหาด้านรายได้ ซึ่งเน้นให้เห็นว่าสังคมวัฒนธรรมอีสานเป็นครอบครัวที่ไม่พอกิน ทำให้เกิดปัญหา ภาระ ความวิตกกังวลในการดูแลผู้ป่วยมาก ซึ่งน่าจะทำให้การทำมาหากินลดประสิทธิภาพลง ส่งผลกระทบต่อสมาชิกอื่น ๆ ในครอบครัว สมกับคำพังเพยที่ว่า เตี้ยอุ้มค่อม ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรถือเป็นภาระในการดูแลผู้ป่วยประเภทนี้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในครอบครัวเดี่ยวควรได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาและควรแนะนำให้ความรู้ในชุมชนได้มีส่วนร่วมรับรู้ด้วย เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยประเภทนี้ได้เข้าร่วมในสังคมได้มากขึ้น

Keywords: คนไข้โรคจิตเภท, วัฒนธรรมอีสาน, ผู้ป่วยโรคจิต, psychiatry, schizophrenia, psychosis

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201420005188

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -