ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วันลาภ เหรียญโมรา, นพรัตน์ ไชยชำนิ

ชื่อเรื่อง/Title: พฤติกรรมการเผชิญปัญหาของประชาชนในชุมชน ต.ทุ่งกง อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5, พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ พฤติกรรมการเผชิญปัญหา เป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตของคนทุกคน การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาสภาพแวดล้อมและเครือข่ายในการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตของประชาชนในชุมชน สาเหตุการเกิดปัญหาสุขภาพจิต พฤติกรรมการแก้ปัญหา และระดับปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน โดยสำรวจและสัมภาษณ์ประชาชนที่มีภูมิลำเนาในชุมชน ต.ทุ่งกง อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ที่ยังไม่มีอาการทางจิต ระหว่าง วันที่4 มิถุนายน 2542 – 23 กรกฎาคม 2542 จำนวน 492 เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์และคำนวณวิเคราะห์ข้อมูล ด้วยโปรแกรม SPSS ผลที่ได้ ผลการวิจัยพบว่า ประชาชนที่ตอบแบบสอบถาม ส่วนใหญ่เป็นหญิงร้อยละ 69.7 สถานภาพสมรส คู่ อายุเฉลี่ย 48 ปี มีความรู้ระดับประถมศึกษา อาชีพส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร สภาพในชุมชนมีกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีความรัก ความสามัคคีส่วนใหญ่จะเน้นกิจกรรมตามประเพณี เช่น วันสงกรานต์ ประเพณีลงแขกถางหญ้า ฯลฯ และกิจกรรมด้านศาสนา เช่น ทำบุญวันพระ สวดหมู่บ้าน ฯลฯ ร้อยละ 36.6 และร้อยละ 34.6 ตามลำดับ ส่วนสภาพแวดล้อมในหมู่บ้านที่ทำให้รู้สึกอึดอัด พบว่ามีวัยรุ่นในชุมชนติดสารเสพย์ติดก่อความเดือดร้อน ร้อยละ 30.9 รองลงมา สิ่งแวดล้อมไม่ดี เช่น มีกลิ่นเหม็น มียุงมาก ร้อยละ 22.2 พบว่าประชาชนได้รับบริการด้านสุขภาพจิตไม่ทั่วถึง ร้อยละ 70.2 เนื่องจากขาดการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงาน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีน้อย ด้านความรู้ประชาชนได้รับความรู้ด้านสุขภาพจิตจากแผ่นพับ คู่มือความรู้สุขภาพจิต ร้อยละ 28.5 และจากการดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ ร้อยละ 17.5 แต่ร้อยละ 47.6 ไม่เคยได้รับบริการแบบใด ๆ เช่น แผ่นพับ คู่มือความรู้สุขภาพจิตและการดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ ฯลฯ ปัญหาที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องเผชิญ พบว่าร้อยละ 58.9 เป็นปัญหาการเงินรองลงมา เป็นห่วงลูกหลานจะลำบาก ร้อยละ 37.8 และกังวลเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของตนเองร้อยละ 10 ส่วนพฤติกรรมการเผชิญปัญหาเมื่อไม่สบายใจ พบว่า ประชาชนใช้วิธีการพูดคุยไม่เก็บปัญหาไว้คนเดียว ร้อยละ 80.3 และปรึกษาคนในครอบครัว ร้อยละ 48.8 นอกจากนั้น ไปทำบุญที่วัด ฟังหรืออ่านหนังสือธรรมะ ร้อยละ 42.7 และออกกำลังกาย ร้อยละ 32.1 เมื่อให้ประชาชนประเมินความเครียดด้วยตนเอง พบว่า จำนวนผู้ประเมิน 337 คน (คิดเป็นร้อยละ 68 ของจำนวน 492 คน) มีความเครียด ร้อยละ 30.1 จำแนก ระดับความเครียด 3 ระดับ คือ ความเครียดสูงกว่าปกติเล็กน้อย ร้อยละ 18.6 ระดับปานกลางร้อยละ 4.7 ระดับสูง ร้อยละ 6.8 พบว่า ผู้ที่เครียดอยู่ในช่วงวัยทำงาน อายุ 21-40 ปี ผู้ที่เครียดระดับสูง พบมากในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 31% ผู้หญิงเครียดมากกว่าผู้ขาย 3 : 1 รายได้ส่วนใหญ่น้อยกว่า 5,000 บาท (ร้อยละ 75) การศึกษา ป.1-ป.6 ร้อยละ 65 สถานภาพคู่ร้อยละ 41 พบว่าประชาชนที่เครียดและไม่เครียดมีพฤติกรรมการเผชิญปัญหาที่แตกต่างกัน คือ ผู้ที่เครียดมักจะเก็บปัญหาไม่พูดกับใคร ร้อยละ 38 ขณะที่พวกไม่เครียด พบเพียงร้อยละ 13 นอกจากนั้นผู้ที่เครียดมีการปรึกษาคนในครอบครัวน้อยกว่าผู้ที่ไม่เครียด คือ ผู้ที่เครียดปรึกษาคนในครอบครัวเพียงร้อยละ 36 ขณะที่ผู้ที่ไม่เครียด ปรึกษาคนในครอบครัว ร้อยละ 52.5 ส่วนการดูแลของหน่วยงานรัฐ ไม่มีความแตกต่างกันที่ทำให้เครียดหรือไม่เครียด ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือผู้ที่เครียดได้รับความรู้สุขภาพจิตจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โทรทัศน์ สื่อต่าง ๆ เพียงร้อยละ 48 ขณะที่พวกที่ไม่เครียดได้รับบริการมากกว่า ร้อยละ 53 สรุปและข้อเสนอแนะ หากบุคลากรในหน่วยงานของรัฐ ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนในชุมชนโดยไปดูแลส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในเชิงรุก โดย เฉพาะเน้นความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัว จะเป็นการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงได้

Keywords: พฤติกรรมการเผชิญปัญหาของประชาชนในชุมชน, พฤติกรรม, ปัญหาสุขภาพจิต, mental health problem, behavior, community psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201420005197

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -