ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จิณห์จุฑา ฤทธิ์สวัสดิ์

ชื่อเรื่อง/Title: การสำรวจปัญหาสุขภาพจิตและส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5 , พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ 1. เพื่อสำรวจปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน 2. เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตตามข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ 3. เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้มีส่วนร่วมในการสำรวจปัญหาและส่งเสริมสุขภาพจิตของตนเอง 4. เพื่อให้นักศึกษาพยาบาล ชั้นปีที่ 3 มีประสบการณ์การทำงานในชุมชน ประเมินและวินิจฉัยสุขภาพจิตชุมชน การวางแผนงานเพื่อป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน วิธีดำเนินการ 1. ขั้นดำเนินการขั้นที่ 1 (สัปดาห์แรกของการฝึกปฏิบัติ) ให้นักศึกษาเข้าพบผู้นำชุมชนและประชาชน เก็บรวบรวมข้อมูลทางสุขภาพจิต โดยใช้แบบวัดความเครียดของกรมสุขภาพจิต แบบสัมภาษณ์หรือแบบสอบถามที่สร้างขึ้นและจัดการสนทนากลุ่ม (Focus group dissussion) กับผู้นำหมู่บ้านและประชาชน จากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลปัญหาสุขภาพจิตร่วมกับชุมชน 2. ขั้นดำเนินการขั้นที่ 2 (สัปดาห์ที่ 2 ของการฝึกปฏิบัติ) ให้นักศึกษาดำเนินการจัดทำโครงการเพื่อป้องกันหรือส่งเสริมสุขภาพจิตตามปัญหาที่พบ จากนั้นนำเสนอและประเมินผลโครงการต่ออาจารย์นิเทศ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยแหล่งฝึก ผู้นำชุมชน เช่น กำนัน อบต. ผู้ใหญ่บ้าน ผลที่ได้ 1. นักศึกษาพยาบาล ชั้นปี 3 จำนวน 194 คน ได้แบ่งกลุ่มออกฝึกตามหมู่บ้านในตำบลวังสรรพรส ตำบลวันยาว ตำบลตะปอน อำเภอขลุง และตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ โดยเข้าพักอาศัยร่วมกับชุมชน และได้จัดทำโครงการย่อยเพื่อป้องกันปัญหาและส่งเสริมสุขภาพจิตทั้งหมด 15 โครงการ เช่น โครงการสุขภาพจิตสดใส นวด – อบ สมุนไพร คลายเครียด โครงการชาววันยาวร่วมใจ ช่วยผู้สูงวัยพ้นภัยความเครียด โครงการสุขภาพกายดี สุขภาพจิตแจ่มใส ใส่ใจครอบครัว หรือโครงการเยาวชนสดใส ห่างไกลยาเสพติด เป็นต้น 2. จากการฝึกปฏิบัติงานสุขภาพจิตในชุมชน ทำให้นักศึกษาเกิดแนวคิดรวบยอดเกี่ยวกับสุขภาพจิตชุมชน เช่น การประเมินและวินิจฉัยปัญหาสุขภาพจิตชุมชน กลวิธีการป้องกันปัญหา และการส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน ซึ่งประเมินจากความสามารถจากการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลในรายงานการปฏิบัติการสำรวจปัญหาสุขภาพจิต และการจัดทำโครงการเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิต และการจัดทำโครงการเพื่อป้องกันปัญหาและส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน และขณะดำเนินการจัดทำโครงการ 3. ชุมชนที่นักศึกษาเข้าฝึกปฏิบัติงานเกิดการตื่นตัว มีการร่วมกลุ่มกัน มีความสามัคคีเพิ่มมากขึ้นในการช่วยวิเคราะห์ปัญหาในชุมชนของตนเอง รวมทั้งให้ความร่วมมือในการจัดทำโครงการ เพราะตระหนักว่าเกิดประโยชน์กับชุมชน 4. นักศึกษามีทัศนคติที่ดีต่อการฝึกปฏิบัติจิตเวชชุมชน ซึ่งประเมินจากแบบวัดทัศนคติการฝึกปฏิบัติจิตเวชชุมชน พบว่าหลังจากฝึกปฏิบัติมีคะแนนทัศนคติสูงกว่าก่อนฝึกอย่างมีนัยสำคัญ ที่ระดับความเชื่อมั่น .05 สรุปและข้อเสนอแนะ จากการจัดทำโครงการสำรวจปัญหาสุขภาพจิตและส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน พบว่า นอกจากนักศึกษาพยาบาล ชั้นปี 3 จะได้แนวคิดรวบยอดเกี่ยวกับการดำเนินงานสุขภาพจิตชุมชนแล้ว ชุมชนยังเกิดการตระหนักรู้ในปัญหาสุขภาพจิตของตนเอง และใช้ศักยภาพของชุมชนในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของตนเอง โดยมีนักศึกษาเป็นผู้จุดประกายความคิดให้ จากผลดังกล่าว คณะกรรมการดำเนินโครงการคิดว่าจะมีการดำเนินโครงการอีกในปีต่อไป เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพด้านวิชาการของนักศึกษาให้สอดคล้องกับชุมชนอย่างแท้จริง อันเนื่องมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้คนไทยทุกคนเป็นคนที่มีความปกติสุขทั้งทางกาย ทางจิต และสังคม ดังนั้นกรมสุขภาพจิต ซึ่งมีภารกิจหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพจิตของประชาชน จึงได้กำหนดนโยบายของกรมสุขภาพจิตที่เน้นการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อบรรลุเป้าหมายการดูแลสุขภาพจิตของตนเองโดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลช่วยเหลือกันในครอบครัว และมีการพึ่งพากันเองในชุมชน (กระทรวงสาธารณสุข 2539) ทำให้การดำเนินงานสาธารณสุขรูปแบบใหม่จะเป็นลักษณะเชิงรุกมากขึ้น เพราะที่ผ่านมางานบริการด้านสุขภาพจิตจะอยู่ในรูปของการให้ความสำคัญในด้านการรักษา แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจำนวนผู้ป่วยยังคงเพิ่มมากขึ้น โรงพยาบาลและเตียงไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการสุขภาพจิตใหม่ ซึ่งเรียกว่าสุขภาพจิตชุมชน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายหลักในการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันความเจ็บป่วย เพื่อเพิ่มพูนภูมิต้านทานด้านจิตใจให้เกิดขึ้นกับประชาชน ดังนั้น พยาบาลจึงต้องขยายบทบาทของตนจากโรงพยาบาลที่ให้บริการด้านการรักษาไปสู่บทบาทของการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันความเจ็บป่วยด้วยเช่นกัน ภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี ได้เล็งเห็นความสำคัญของแนวโน้มการดำเนินงานสุขภาพจิตรูปแบบใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้แก่นักศึกษาอย่างยิ่งในการเตรียมตัวที่จะเป็นพยาบาลที่ดีในอนาคต จึงได้จัดทำโครงการการสำรวจปัญหาสุขภาพจิตและส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชนขึ้น เพื่อให้นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 ได้มีประสบการณ์การประเมินและวินิจฉัยชุมชน การวางแผนเพื่อป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิต โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งนอกจากจะเกิดประโยชน์ในการส่งเสริมให้ชุมชนได้ตระหนักรู้ถึงปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นแล้ว ยังเป็นการดึงศักยภาพของประชาชนเพื่อประกอบกิจกรรมร่วมกัน อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนต่อไป

Keywords: ปัญหาสุขภาพจิต สุขภาพจิต, การสำรวจ, survey, mental health problem

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: ภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี

Code: 201420005211

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -