ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อัจฉรา มุ่งพานิช, วัชนี หัตถพนม, สุวดี ศรีวิเศษ, สุภาณี กิตติสารพงษ์, ศิริวรรณ ฤกษ์ธนะขจร, กิรติ สุวรรณศรี, ระพีพร แก้วคอนไทย, ไพลิน โพธิ์สุวรรณ์, สุริยา ราชบุตร, ไพรวัลย์ ร่มซ้าย

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการติดตามเยี่ยมเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิตจังหวัด สกลนคร ปีงบประมาณ 2542

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5, พ.ศ.2542

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ / วิธีการ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิต จังหวัดสกลนคร มีวัตถุประสงค์เพื่อ ติดตามผลการดำเนินงานสุขภาพจิต แก้ไขปัญหา อุปสรรค และให้กำลังใจในการปฏิบัติงาน วิธีการ โดยการติดตามเยี่ยมเครือข่าย จำนวน 2 ครั้ง ๆ ที่ 1 วันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ 2542 ครั้งที่ 2 วันที่ 14-18 มิถุนายน โดยมีเครือข่ายที่ได้รับการติดตามเยี่ยมทั้งสองครั้ง ๆ ละประมาณ 200 คน โดยทุกครั้งจะติดตามเยี่ยมทั้ง 4 โซน ๆ ละ 1 วัน ในวันสุดทัายของการติดตามเยี่ยมจะสรุปผลการปฏิบัติงานนำเสนอต่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและคณะ (ก่อนการติดตามเยี่ยมทุกครั้งจะส่งรายงานการติดตามเยี่ยมให้เครือข่าย กรอกรายละเอียด ผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะก่อนล่วงหน้า 1 เดือน เพื่อรวบรวมผลการดำเนินงานและปัญหา แนวทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาร่วมกันในขณะติดตามเยี่ยม) ผลที่ได้รับ จากการติดตามเยี่ยมครั้งที่ 1 ได้ชี้แจงแผนการปฏิบัติงานปีงบประมาณ 2542 ให้แก่เครือข่าย จำนวน 191 คน และติดตามผลการดำเนินงานสุขภาพจิตและปัญหาอุปสรรค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาความรู้ในการดำเนินงานสุขภาพจิตและอยากให้จัดอบรมให้ต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานมีน้อยทำให้ไม่มีเวลาให้การปรึกษา อยากให้จัดสรรงบประมาณให้จังหวัดมากกว่านี้ เพื่อให้จังหวัดกระจายไปสู่ระดับล่างและอยากให้มีการตรวจสุขภาพจิตของเครือข่ายทุกคน ปีละ 1 ครั้ง และได้เปิดโอกาสให้เครือข่ายทุกระดับเสนอโครงการเพื่อเข้าร่วมประกวดโครงการสุขภาพจิตดีเด่นในปีงบประมาณ 2542 พบว่ามีผู้สนใจเสนอโครงการ 5 โครงการ ซึ่งได้นัดหมายให้เตรียมนำเสนอให้คณะกรรมการตัดสินในการเยี่ยมครั้งที่ 2 โดยใช้เวลาในการนำเสนอโครงการละ 15-20 นาที อภิปรายและให้ข้อเสนอแนะโครงการอีก 15-20 นาที นอกจากนี้ยังได้ประชุมระดมสมองจากเครือข่ายเพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ของเครือข่ายแต่ละระดับร่วมกันตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และคาดหวังว่าโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น มีบทบาทหน้าที่ในฐานะระดับเขตอย่างไร รวมทั้งแนวทางการประสานด้วย นำข้อสรุปที่ได้มาจัดพิมพ์และใส่รายละเอียด ในคู่มือการปฏิบัติงานต่อไป ในการติดตามเยี่ยมครั้งที่ 1 ได้ติดตามผลการดำเนินงานสุขภาพจิตที่ขอรับการสนับสนุนเงินจากกรมสุขภาพจิตในปีงบประมาณ 2542 จำนวน 151,000 บาท มีทั้งหมด 6 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 5 โครงการ และอยู่ระหว่างการดำเนินงาน 1 โครงการ มีผู้รับการติดตามเยี่ยมครั้งที่ 2 จำนวน 197 สำหรับปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานคล้ายคลึงกับครั้งที่ 1 แต่มีปัญหาเพิ่มขึ้น ในเรื่องขาดสื่อในการดำเนินงานสุขภาพจิต ขาดยาในการบำบัดรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลทำให้ผู้ป่วยต้องกลับไปรับยาที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น สำหรับการประกวดโครงการสุขภาพจิตดีเด่น โครงการที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ โครงการคลายเครียดและการกระตุ้นภาวะความเป็นผู้นำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรโรงพยาบาลเจริญศิลป์ ในการติดตามเยี่ยมได้แบ่งกลุ่มเครือข่ายในแต่ละโซนออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อแสดงความคิดเห็นในเรื่อง “ การช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยโรคจิตขณะอยู่ในชุมชนโดยกลไกของเครือข่าย” เพื่อนำแนวทางที่ได้รับมาจัดทำคู่มือการดูแลผู้ป่วยโรคจิตในชุมชนในปีต่อไป และได้เพิ่มพูนความรู้ให้แก่เครือข่ายตามที่ต้องการ 4 เรื่อง คือ การให้การปรึกษาความเครียดและการคลายเครียดโรคจิตและการรักษาและการช่วยเหลือผู้มีแนวโน้มฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ในการติดตามเยี่ยมทั้งสองครั้ง ได้ร่วมจัดนิทรรศการในงาน “รวมน้ำใจไทสกล” และติดตามเยี่ยมผู้ป่วยโรคจิตและครอบครัวที่มีปัญหาซับซ้อนในชุมชน 2 ครอบครัว / 4 ครั้ง สรุปและข้อเสนอแนะ การติดตามเยี่ยมเครือข่ายควรทำอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี อย่างน้อยปีละ 2 ครั้งเพื่อทราบผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค และแก้ไขปัญหาร่วมกันสนับสนุนให้กำลังใจแก่เครือข่ายในการทำงาน เพื่อให้การดำเนินงานสุขภาพจิตในพื้นที่มีประสิทธิภาพ

Keywords: เครือข่าย, สุขภาพจิต, ชุมชน, mental health, network, community

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201420005214

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -