ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: มัจฉรี โอสถานนท์

ชื่อเรื่อง/Title: การเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ครอบครัวบุคคลปัญญาอ่อน

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546. หน้า 221 (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

บุคคลปัญญาอ่อน เป็นผู้พิการกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งของประเทศ ที่ต้องการความช่วยเหลือสนับสนุนจากบุคคลและแหล่งต่างๆ ทั้งจากครอบครัว สังคม และรัฐบาล แต่จากอดีตมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันการช่วยเหลือที่พวกเขาได้รับ ส่วนใหญ่เป็นความช่วยเหลือที่รัฐจัดให้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ช่วยให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ เช่น บุคคลทั่วไป แต่ กลับทำให้บุคคลเหล่านี้มีความต้องการพึ่งพาผู้อื่นสูง กลายเป็นภาระหนักแก่ครอบครัว เพราะรัฐไม่สามารถจัดบริการที่ช่วยตอบสนองแก่บุคคลเหล่านี้ได้ทั่วทุกคน ด้วยปัญหาดังกล่าวมาข้างต้น แนวทางการช่วยเหลือบุคคลปัญญาอ่อนในปัจจุบัน จึงเปลี่ยนมาที่การส่งเสริมและสนับสนุนให้ครอบครัวดูแลบุคคลปัญญาอ่อนได้ด้วยตนเอง เนื่องจากครอบครัวเป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญและใกล้ชิดกับพวกเขามากที่สุด ถ้าครอบครัวทุกครอบครัวมีความเข้มแข็ง ดูแลบุคคลปัญญาอ่อนได้ด้วยตนเอง จะส่งผลที่ดีต่อสังคมและประเทศชาติ ทั้งในด้านการลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ปัองกันปัญหาทางสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต วัตถุประสงค์ 1. เพื่อให้ครอบครัวบุคคลปัญญาอ่อนร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาการดูแลบุคคลปัญญาอ่อนด้วยตนเอง 2. เพื่อให้ครอบครัวปัญญาอ่อนสามารถดูแลบุคคลปัญญาอ่อนด้วยตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม วิธีการและผลที่ได้รับ แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะต่อเนื่อง 3 ปี ดังนี้ ระยะที่ 1 ดำเนินการในปี 2543 เป็นระยะสร้างความตระหนักและการยอมรับบทบาทหน้าที่ของครอบครัวต่อการดูแลบุคคลปัญญาอ่อน ด้วยวิธีการให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง จัดสัมมนาครอบครัวเข้มแข็งจัดประชุมกลุ่มผู้ปกครอง ผลที่ได้รับคือผู้ปกครองยอมรับบทบาทหน้าที่ มีการรวมกลุ่มตั้งเป็นชมรมผู้ปกครอง ระยะที่ 2 ดำเนินการต่อในปี 2544 เป็นระยะส่งเสริมให้ครอบครัวดำเนินกิจกรรมร่วมกัน โดยจัดกิจกรรมสัมมนาค่ายครอบครัวเข้มแข็งปีที่ 2 จัดผู้ประสานงานให้การช่วยเหลือสนับสนุนชมรมผู้ปกครอง ผลที่ได้รับคือ ชมรมผู้ปกครองมีกิจกรรมย่อยเพื่อการดูแลตนเองหลากหลายกิจกรรม ระยะที่3 ดำเนินการต่อในปี 2545 เป็นระยะครอบครัวเข้มแข็ง โดยการจัดสัมมนาค่ายครอบครัวเข้มแข็งครั้งที่ 3 เพื่อวางแผนดำเนินกิจกรรมเพื่อการดูแลตนเองอย่างเป็นธรรม ผลที่ได้รับคือ ชมรมผู้ปกครองสามารถจัดกิจกรรมหาทุนสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายด้วยการจัดกิจกรรมดนตรีในสวน และเปิดบ้านร่มโพธิ์ เพื่อใช้เป็นสถานที่ที่ให้การดูแลบุคคลปัญญาอ่อนด้วยตนเองของชมรมผู้ปกครอง ข้อเสนอแนะ กลุ่มผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้พิการอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์เพื่อการส่งเสริมศักยภาพของครอบครัวในการดูแลตนเองได้

Keywords: ปัญญาอ่อน, ผู้พิการ, พิการ, ครอบครัว, แนวทางการช่วยเหลือ, mental retardation, MR

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต

Code: 00000089

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -