ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช

ชื่อเรื่อง/Title: โครงการส่งเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุในชุมชนแออัด

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5 , พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

จากการสำรวจปัญหาผู้สูงอายุในชุมชนแออัด จากวิทยานิพนธ์เรื่องการศึกษา ความว้าเหว่ของผู้สูงอายุในชุมชนแออัดในเขตเทศบาลเมืองจังหวัดสุรินทร์ ของ ธิดา มีศิริ (2541) พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก ขาดความสนใจจากบุตรหลาน และมีความว้าเหว่อยู่ในระดับสูงโดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือ สัมพันธภาพในครอบครัว สัมพันธภาพในชุมชน ปัญหาสุขภาพ การสูญเสีย และรายได้ วัตถุประสงค์ 1. เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีการดูแลตนเองด้านร่างกาย และจิตใจ 2. เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและระบายความรู้สึกไม่สบายใจ 3. เพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างผู้สูงอายุกับทีมสุขภาพ วิธีการดำเนินการ 1. ติดต่อประสานงานกับกองอนามัยและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เพื่อขออนุญาตทำโครงการและขอความช่วยเหลือในการดำเนินโครงการ 2. ประสานงานกับนักศึกษาที่เรียนวิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช 2 ซึ่งเรียนในหัวข้อจิตเวชชุมชน ทำโครงการบริการสังคมและโดยเน้นการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มเสี่ยง 3. ดำเนินกิจกรรมเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกเป็นการสร้างสัมพันธภาพกับผู้สูงอายุในชุมชน ประชาสัมพันธ์การทำโครงการและเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งและมีปัญหาสุขภาพ ระยะที่สอง เป็นการทำกิจกรรมตรวจสุขภาพ ให้ความรู้ในด้านสุขภาพกายและจิต ทำกลุ่มสันทนาการ กลุ่มระบายความรู้สึก และกิจกรรมเสริมรายได้ ผลที่ได้ 1. ผู้สูงอายุมีความภาคภูมิใจและรู้สึกมีคุณค่าที่มีบุคลากรทางสุขภาพให้ความสนใจ และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้สึกและหาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน 2. นักศึกษาได้ประสบการณ์ในการทำโครงการส่งเสริมป้องกันส่งเสริมสุขภาพจิตและตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตผู้สูงอายุ รวมทั้งเข้าใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ผู้สูงอายุ ในชุมชนแออัดซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตและกลุ่มด้อยโอกาส 3. ได้มีโอกาสทำงานและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น สรุป ในการทำโครงการครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากการทำวิทยานิพนธ์ และได้นำมาจัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ในการทำโครงการในเชิงรุกเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิต และเพื่อบริการให้แก่สังคมโดยผู้สูงอายุในชุมชนได้รับประโยชน์ และได้มีการทำงานประสานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ข้อเสนอแนะ ในการทำโครงการครั้งนี้เป็นโครงการระยะสั้น และดำเนินงานตามปฏิทินการศึกษาเท่านั้น แต่ผู้สูงอายุยังต้องการการดูแลที่ต่อเนื่อง จึงเห็นควรที่หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องควรจะมีโครงการในลักษณะนี้ให้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา และมีการติดตามประเมินผลปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องด้วย

Keywords: สุขภาพจิต, ผู้สูงอายุ ชุมชนแออัด, mental health, elderly

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสุรินทร์

Code: 201420005215

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -