ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เมธาวี อุดมธรรมานุภาพ

ชื่อเรื่อง/Title: สุขภาพจิตของบุคคลวัยผู้ใหญ่ตอนต้นในสภาวะวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2541: ศึกษาเฉพาะกรณีผู้ที่กำลังศึกษาภาคสมทบ ตามโครงการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน สถาบันราชภัฏสวนดุสิต

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5 , พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษาสภาวะสุขภาพจิตของบุคคลวัยทำงานซึ่งกำลังศึกษาภาคสมทบสถาบันราชภัฏสวนดุสิต และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับสภาวะสุขภาพจิต ได้แก่ เพศ สภาวะการมีงานทำ ระดับรายได้ ภาวะหนี้สินและสภาวะครอบครัวกลุ่มตัวอย่างได้แก่บุคคลวัยทำงานซึ่งเป็นนักศึกษาภาคสมทบตามโครงการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนสถาบันราชภัฎสวนดุสิต เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 15-30 พฤศจิกายน 2541 โดยขอความร่วมมือจากนักศึกษาฯ จำนวน 660 คน ได้ตรวจสอบเฉพาะแบบทดสอบที่สมบูรณ์จำนวน 641 ชุด เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบทดสอบสุขภาพจิต Symptom Check List-90 (SCL-90) สถิติที่ใช้คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน F –Test การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS\PC ผลที่ได้ ผลการวิจัยพบว่า 1. สภาวะของสุขภาพจิตบุคคลวัยผู้ใหญ่ตอนต้นที่กำลังศึกษาภาคสมทบสถาบันราชภัฏสวนดุสิต มีปัญหาสุขภาพจิตปานกลางค่อนข้างสูงในด้านอาการทางกาย การย้ำคิดย้ำทำรู้สึกมีปมด้อย ซึมเศร้า ก้าวร้าว ไม่เป็นมิตร กลัวโดยไม่มีเหตุผลและอาการทางจิต สภาวะสุขภาพจิตที่มีปัญหาปานกลางค่อนข้างต่ำ มีเพียงความหวาดระแวง ส่วนความวิตกกังวลอยู่ในเกณฑ์ปกติ 2. สภาวะของสุขภาพ จำแนกตามตัวแปรดังนี้คือ เพศ สภาวะการมีงานทำระดับรายได้ ภาวะหนี้สิน สภาพครอบครัว พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนี้ 2.1. การเปรียบเทียบสภาวะสุขภาพจิตของบุคคลวัยผู้ใหญ่ตอนต้นเพศชายและเพศหญิงไม่มีความแตกต่างกันในด้านอาการทางกาย ส่วนด้านอื่น ๆ 8 ด้านมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ได้แก่ ย้ำคิดย้ำทำ รู้สึกมีปมด้อย ซึมเศร้า วิตกกังวล ก้าวร้าวไม่เป็นมิตร กลัวโดยไม่มีเหตุผล หวาดระแวงและอาการทางจิต 2.2. การเปรียบเทียบสภาวะสุขภาพจิตของบุคคลวัยผู้ใหญ่ตอนต้นกลุ่มที่กำลังประกอบอาชีพ ไม่เคยประกอบอาชีพและตกงาน พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ใน 4 ด้าน ได้แก่ อาการทางกาย รู้สึกมีปมด้อย ก้าวร้าวไม่เป็นมิตรและหวาดระแวง ส่วนที่ไม่มีความแตกต่างกันคือ ย้ำคิดย้ำทำ ซึมเศร้า วิตกกังวล กลัวโดยไม่มีเหตุผลและอาการทางจิต 2.3. การเปรียบเทียบสภาวะสุขภาพจิตของบุคคลวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ตามระดับรายได้ พบว่าสุขภาพจิตมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ใน 5 ด้าน คือ อาการทางกาย รู้สึกมีปมด้อย วิตกกังวล กลัวโดยไม่มีเหตุผล และหวาดระแวง ส่วนที่ไม่มีความแตกต่างกันมี 4 ด้าน คือ ย้ำคิดย้ำทำ ซึมเศร้า ก้าวร้าว ไม่เป็นมิตร และอาการทางจิต 2.4. การเปรียบเทียบสภาวะสุขภาพจิตของบุคคลวัยผู้ใหญ่ตอนต้นที่มีหนี้สินและไม่มีหนี้สิน พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ใน 5 ด้าน คือ การย้ำคิดย้ำทำ รู้สึกมีปมด้อย ซึมเศร้า วิตกกังวล กลัวโดยไม่มีเหตุผล ส่วนด้านที่ไม่แตกต่างกันคือ อาการทางกาย ก้าวร้าว ไม่เป็นมิตร หวาดระแวง และอาการทางจิต 2.5. การเปรียบเทียบสภาวะสุขภาพจิตของบุคคลวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ที่มีสภาพครอบครัวแตกต่างกันได้แก่ เป็นโสด สมรสและอยู่ร่วมกัน สมรสและแยกกันอยู่ และเป็นหม้ายพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ใน 7 ด้าน ได้แก่ อาการทางกายย้ำคิดย้ำทำ ซึมเศร้า วิตกกังวล ก้าวร้าวไม่เป็นมิตร กลัวโดยไม่มีเหตุผล และอาการทางจิต ส่วนสภาวะสุขภาพจิตที่ไม่มีความแตกต่างกันได้แก่ ความรู้สึกมีปมด้อยและหวาดระแวง ข้อเสนอแนะจากผลการวิจัย ควรส่งเสริมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิต สาเหตุของสภาวะสุขภาพจิตที่เสื่อม และอาการทั่วไปที่แสดงถึงปัญหาสุขภาพจิต รวม ทั้งวิธีการดูแลรักษาสุขภาพจิตแก่บุคคลทั่วไป ในกรณีของสถาบันการศึกษาอาจจัดทำแผนหรือนโยบายให้ความช่วยเหลือแก่นักศึกษาที่กำลังเป็นบุคคลวัยทำงานดังกล่าว ดังนี้ 1. แผนระยะสั้น ดำเนินการสัมมนาอาจารย์และนักศึกษา เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมมือ ช่วยเหลือ ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต จัดบริการให้คำปรึกษาและการอนุเคราะห์แก่บุคลากรในสถาบัน โดยเฉพาะนักศึกษาซึ่งประกอบอาชีพหรือเคยประกอบอาชีพแต่ปัจจุบันตกงาน เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาเฉพาะหน้า ร่วมฟังบริการให้คำปรึกษา และแนะแนวให้กับนักศึกษาทั่วไป และการให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิต ด้วยการประชาสัมพันธ์/จัดนิทรรศการ เป็นต้น 2. แผนระยะยาว ส่งเสริมบริการแนะแนวการศึกษาและอาชีพ โดยศูนย์สนเทศแนะแนวการศึกษาและอาชีพ ประสานงานร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกรมสุขภาพจิต เพื่อการป้องกันแก้ไขพัฒนาช่วยเหลือกันในปัญหาสุขภาพจิต เป็นเครือข่ายตามแต่จะพิจารณาตกลงกัน ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยต่อไป 1. ควรใช้วิธีการหรือแบบสอบถามชุดอื่น เพื่อศึกษาสภาวะสุขภาพจิตของบุคคลวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เพื่อให้การศึกษากว้างขวางออกไป เช่น การใช้แบบสอบถาม HOS (Health Opinion Survey ),CMI (Comell Medical Index, Index of Psychological Wellbeing) 2. ควรศึกษาสภาวะสุขภาพจิตกับตัวแปรอื่น ๆ เช่น บุคลิกภาพ การปรับตัวทัศนะในการมองโลก ความสำเร็จในการประกอบอาชีพ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เป็นต้น 3. ควรศึกษาบุคคลวัยผู้ใหญ่ตอนต้นกับตัวแปรอื่น ๆ เช่น ความพึงพอใจในการประกอบอาชีพ การปรับตัว สภาพครอบครัว ความถนัด ความสนใจ เป็นต้น 4. ควรศึกษาผลของการดูแลรักษา หรือพัฒนาสุขภาพจิตแก่บุคคลในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ตามกระบวนการทางจิตวิทยา การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยารายบุคคล การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาแบบกลุ่ม การสันทนาการ การฝึกสมาธิ การฟังธรรม เป็นต้น

Keywords: เศรษฐกิจ, สุขภาพจิต, วัยผู้ใหญ่ตอนต้น, วิกฤต, วิกฤตเศรษฐกิจ, mental health

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โปรแกรมวิชาจิตวิทยาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏสวนดุสิต

Code: 201420005216

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -