ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ละเอียด รอดจันทร์, วัชราภรณ์ อุทโยภาส, จันทร์เพ็ญ สุทธิชัยโชติ

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการมารักษาซ้ำของผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5 , พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ การศึกษาครั้งนี้เเป็นการวิจัยเชิงบรรยาย มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับการมารักษาซ้ำของผู้ป่วยจิตเวช ในโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในเรื่องความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเวช ความเชื่อด้านสุขภาพจิตเกี่ยวกับโรคจิตเวช สัมพันธภาพของบุคคลในครอบครัวผู้ป่วยจิตเวช ลักษณะทางคลินิกและการรับบริการ ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง คือผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นครั้งที่ 2 ขึ้นไป แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยจิตเวชมารักษาซ้ำภายใน 6 เดือน จำนวน 80 คน กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยจิตเวชไม่มารักษาซ้ำเกิน 6 เดือนขึ้นไป จำนวน 80 คน รวมทั้งหมด 160 คน โดยวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเป็นระบบ เครื่องมือรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสัมภาษณ์แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) ข้อมูลทั่วไป 2) ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเวช 3) ความเชื่อด้านสุขภาพเกี่ยวกับโรคจิตเวช 4) สัมพันธภาพของบุคคลในครอบครัวผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิและได้นำแบบสัมภาษณ์ไปทดสอบความเที่ยงด้วยวิธี Spilt-Half และปรับด้วยสูตร Spearman Brown และวิธีสัมประสิทธิ์ แอลฟา ของ Cronbach ได้ค่าความเที่ยงของส่วนที่ 2,3 และ 4 เท่ากับ 0.67 , 0.42 และ 0.82 ตามลำดับ การเก็บรวบรวม ผู้วิจัยนำแบบสัมภาษณ์ไปสัมภาษณ์ด้วยตนเอง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS/WIN แจกแจงความถี่และคำนวณร้อยละเป็นรายข้อของข้อมูลทั่วไป วิเคราะห์หาคะแนนเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในข้อความเชื่อด้านสุขภาพและสัมพันธภาพของบุคคลในครอบครัว หาปัจจัยที่สัมพันธ์กับการมารักษาซ้ำด้วยการทดสอบ Chi-square ผลที่ได้ ด้านปัจจัยที่สัมพันธ์กับการมารักษาซ้ำของผู้ป่วยจิตเวช พบว่า ครั้งที่รับไว้ในโรงพยาบาลและการวินิจฉัยโรคมีความสัมพันธ์กับการมารักษาซ้ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แต่ผลการศึกษาในด้านความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเวช ความเชื่อด้านสุขภาพเกี่ยวกับโรคจิตเวช สัมพันธภาพของบุคคลในครอบครัวผู้ป่วยจิตเวช พบอยู่ในระดับปานกลางรวมทั้งปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ ไม่มีสัมพันธภาพกับการมารักษาซ้ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 จากผลการศึกษาสามารถอธิบายได้ว่า ในปัจจุบันการให้ความรู้เรื่องสุขภาพจิตและการเจ็บป่วยทางจิตเวช มีการเผยแพร่ ความรู้ได้มากขึ้น ทั้งจากโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลจิตเวช และสื่อมวลชนหมาย ๆ ประเภท ทำให้ประชาชนมีโอกาสรับรู้ได้มากและรวดเร็ว อีกทั้งการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจิตเวชได้มีการพัฒนารูปแบบกิจกรรมบำบัดที่จะให้ผู้ป่วยเข้าใจเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของตนเองมากขึ้น เช่น กลุ่มส่งเสริมสุขภาพ กลุ่มวางแผนจำหน่าย กลุ่มจิตบำบัด และกลุ่มครอบครัวบำบัด แต่ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเจ็บป่วยมากขึ้น ก็ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ทั้งหมด เนื่องจาก มีความเชื่อว่าตนเองหายป่วยไม่จำเป็นต้องกินยาอีก หรือลดขนาดยาลง หรือเกิดความเบื่อหน่ายต่อการเจ็บป่วย และยังมีผู้ป่วยเป็นโรคจิตเภทถึง 3 ใน 4 จึงทำให้การดูแลตนเองระหว่างเจ็บป่วยและการป้องกันตนเองเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากการถดถอยของศักยภาพซึ่งเป็นไปตามพยาธิสภาพของโรคที่กล่าวว่า โรคทางจิตเวชเป็นโรคเรื้อรัง ในบางรายแม้จะได้รับการรักษาด้วยยาอยู่ตลอด ก็อาจเกิดอาการเป็นครั้งคราวได้ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยต้องกลับมารักษาซ้ำได้ สรุปและข้อเสนอแนะ ในการที่จะจำหน่ายผู้ป่วยจิตเวช โดยเฉพาะในโรคจิตเภท ควรจะพิจารณาว่าอาการเหมาะสมหรือดีพอจะกลับไปอยู่กับครอบครัวได้จริง ควรจะศึกษาความถี่และจำนวนครั้งที่กลับมารักษาซ้ำใน 1 ปี ต่อผู้ป่วย 1 ราย พร้อมกับศึกษาสาเหตุของการมารักษาซ้ำด้วยว่าจากสาเหตุอะไร ศึกษาตัวแผนอื่น เช่น วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี พฤติกรรมการแสดงออกทางอารมณ์ของสมาชิกในครอบครัว

Keywords: จิตเภท, โรคจิตเภท, schizophrenia, readmit, readmission

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201420005218

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -