ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นิตยา สโรบล และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: สภาวะทันตสุขภาพในผู้ป่วยจิตเวช.

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

องค์การอนามัยโลกได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ใน ปี ค.ศ. 2000 หรือ พ.ศ.2543 ประชากรโลกจะต้องมีสุขภาพดีถ้วนหน้า เพื่อสนองนโยบายขององค์การอนามัยโลก ในปี 2529 ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายทันตสุขภาพแห่งชาติขึ้น เพื่อให้บรรลุถึงสภาวะสุขภาพช่องปากอันพึงประสงค์ของประชาชนไทย ความเหมาะสมข้อจำกัดด้านทรัพยากรและลักษณะปัญหาสุขภาพของช่องปากของประเทศ คือ ร้อยละ 75 ของประชากรกลุ่มอายุ 18 ปี มีฟันใช้งานได้ครบ 28 ซี่ ค่าเฉลี่ยสภาวะปริทันต์ปกติอย่างน้อย 2 ส่วน ร้อยละ 95 และร้อยละ 50 ของประชากรในกลุ่มอายุ 35-44 ปี และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปตามลำดับ มีฟันใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 20 ซี่ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังมีพยาธิสภาพในช่องปากเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ป่วยละเลย ไม่สนใจสุขภาพของตนเอง รวมถึงสุขภาพในช่องปาก ผู้ป่วยได้รับยาต้านโรคจิตและยาต้านเศร้ามีผลทำให้น้ำลายลดลง ปากแห้ง กระหายน้ำ และปากอักเสบ การที่น้ำลายลดลงมีผลทำให้เกิดโรคเหงือกและโรคฟันผุ ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ผู้ป่วยจิตเวชต้องการการรักษาโรคเหงือก อุดฟัน และถอนฟันมากขึ้น การสำรวจสุขภาพในช่องปากของผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลนิติจิตเวชไม่เคยกระทำมาก่อน การสำรวจในครั้งนี้จะได้ข้อมูลพื้นฐานระบาดวิทยาทางทันตสุขภาพของผู้ป่วยจิตเวช และอาจจะนำข้อมูลนี้ไปประกอบการพิจารณาบริการจัดการวางแผนการบำบัดรักษาให้เหมาะสมหรือเพื่อศึกษาวิจัยต่อไป ผล ผู้ป่วยจิตเวชที่ศึกษามีจำนวนทั้งหมด 150 คน เป็นชายร้อยละ 88.7 หญิงร้อยละ 11.3 สภาวะทันตสุขภาพของผู้ป่วยจิตเวชพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 76 ป่วยเป็นฟันผุ และร้อยละ 99.4 ป่วยเป็นโรคปริทันต์ ในกลุ่มอายุน้อยกว่า 20 ปี มีฟันครบ 28 ซี่ ร้อยละ 100 มีค่าเฉลี่ย 28.6 ซี่ / คน มีฟันใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 20 ซี่ ร้อยละ 96.15 ค่าเฉลี่ยปริทันต์ปกติ 0.38 ส่วน มีค่าเฉลี่ยผุถอนอุด 8.4 ซี่ / คน ในกลุ่มอายุ 41-50 ปี มีฟันในช่องปากเฉลี่ย 24.22 ซี่ / คน มีฟันใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 20 ซี่ ร้อยละ 77.77 มีค่าเฉลี่ยส่วนปริทันต์ปกติ 0.44 ส่วนใหญ่มีการสบฟันแบบปกติฟันล่างครอบฟันบนร้อยละ 92.6 สรุป ผู้ป่วยจิตเวช 150 คน ป่วยเป็นโรคฟันผุร้อยละ 76 ป่วยเป็นโรคปริทันต์ร้อยละ 99.4 สภาวะของโรคยังอยู่ในสภาพรุนแรง แต่อย่างไรก็ตามสภาวะทันตสุขภาพของผู้ป่วยจิตเวชมีค่าใกล้เคียงกับเป้าหมายทันตสุขภาพแห่งชาติที่ตั้งเอาไว้ในปี ค.ศ.2000

Keywords: ทันตกรรม, ผู้ป่วยจิตเวช, Dental

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: กลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลนิติจิตเวช

Code: 201430006231

ISSN/ISBN: 74-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -