ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุธีกาญจน์ ไชยลาภ

ชื่อเรื่อง/Title: ความเครียดจากการทำงานในสถานการณ์ปัจจุบันกับการส่งเสริมป้องกันปัญหา

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับความเครียดจากการทำงานว่ามีหรือไม่นำไปกำหนดทิศทางการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตได้หรือไม่อย่างไร สถานการณ์ปัจจุบันของการทำงานมีความสัมพันธ์กับความเครียดอย่างไร และบทบาทควรเป็นของใครบ้าง วิธีการศึกษาผสมผสานทั้งการวิจัยทางเอกสารและการสำรวจภาคสนาม ผลการศึกษาพบว่า จากการวิจัยทางเอกสารโดยสังเคราะห์งานวรรณกรรมและงานวิจัยที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532-2542 พบว่า องค์ความรู้เกี่ยวกับความเครียดจากการทำงานในประเทศไทยเท่าที่ปรากฎยังมีน้อยมากและไม่ชัดเจน แนวความคิดในการศึกษาเน้นทัศนะทางการแพทย์และทางจิตวิทยาเป็นส่วนใหญ่ เนื้อหาการศึกษาเน้นการศึกษาด้านผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าสาเหตุของสภาพปัญหา วิธีการศึกษาส่วนใหญ่เป็นการวิจัยที่ใช้วิธีเชิงปริมาณซึ่งใช้เครื่องมือดัดแปลงมาจากแบบวัดของต่างประเทศเป็นหลัก การกำหนดนโยบายยังมุ่งเน้นวิธีคิดทางการแทพย์และเป็นบทบาทของนักอาชีวอนามัยเป็นส่วนใหญ่ ทำให้มองปัญหาความเครียดว่าเป็นปัญหาทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นเพียงโดด ๆ ไม่ได้เกี่ยวพันกับมิติด้านอื่น ๆ ได้แก่ การทำงาน บุคคล สภาพแวดล้อมในการทำงาน และปัจจัยโครงสร้างอื่น ๆ ที่กำหนดสภาพงานและคนทำงานเป็น และข้อมูลจากการสำรวจจากภาคบริการ ภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม พบว่ากลุ่มเสี่ยงเป็นกลุ่มที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้เนื่องจากเป็นกลุ่มแรงงานอพยพย้ายถิ่นขาดทักษะการปรับตัวในการมีวิถีชีวิตในเขตเมือง ความเครียดของแรงงานที่ปรากฎขึ้นถูกกำหนดขึ้นจากสภาพองค์การและจากสภาพของกระบวนการผลิตในระบบเศรษฐกิจที่เน้นกำไรและประสิทธิภาพสูงสุดโดยได้รับค่าจ้างพอยังชีพเท่านั้น ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายและการวิจัย คือ ให้ความหมายต่อความเครียดในมุมมองใหม่ ที่มีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับตัวแปรด้านจิตสังคมทั้งในระดับบุคคล ระดับองค์การและระดับโครงสร้าง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงกับผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมด้วย ในด้านการศึกษาควรมีการพัฒนาองค์ความรู้เพิ่มขึ้นในมิติอื่น ๆ เช่น ในมิติทางด้านสังคมศาสตร์ และผลกระทบต่อสุขภาพที่นำไปสู่แบบแผนสุขภาพและความเจ็บป่วยใหม่ของสังคมไทย ควรเน้นศึกษาหาข้อมูลในกลุ่มเสี่ยงมากขึ้น เพื่อหาทิศทางกำหนดทางนโยบายและการปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของปัญหา องค์การรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบเดิมถูกมองว่าเป็นบทบาทของกองอาชีวอนามัยเท่านั้น นโยบายของกรมสุขภาพจิตที่ผ่านมา ยังให้ความสำคัญน้อยกับเชิงรุกในบริบทของการทำงานในภาคต่าง ๆ นอกจากนี้ยังขาดการประสานระบบการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

Keywords: เครียด, ความเครียด, stress

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร

Code: 201430006232

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -