ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุภาวดี นวลมณี

ชื่อเรื่อง/Title: การบำบัดผู้ป่วยทางจิตเวชด้วยการฝังเข็ม

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

การบำบัดโรคด้วยวิธีการฝังเข็มนั้น ปัจจุบันในประเทศไทยเรานับวันมีผู้ให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น เพราะปรากฎว่าโรคบางโรคที่ทางการแพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารถรักษาให้หายได้นั้น สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการฝังเข็ม มีประชาชนไปรับบริการนับวันเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของการบำบัดรักษาในผู้ป่วยโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีผู้ป่วยโรคทางจิตเวชนั้นพบว่า โรคทางจิตเวชหลายโรคจะต้องให้ผู้ป่วยกินยาเป็นเวลายาวนาน ในขณะที่ยาทางจิตเวชนั้นมีผลข้างเคียงของยาอันทำให้ผู้ป่วยมีภาวะตัวแข็งทื่อ ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงซึม แขนขาไม่มีแรงหรือเกิดอาการดื้อยา เป็นต้น ในขณะที่ทำการรักษาด้วยวิธีการฝังเข็มนั้นจะช่วยบำบัดอาการต่าง ๆ ได้โดยไม่พบอาการข้างเคียงดังกล่าว หากสามารถวิเคราะห์โรค อาการของผู้ป่วย เลือกจุดและวิธีการฝังเข็มตามจุดได้อย่างเหมาะสมแล้วจะช่วยรักษาโรคและอาการของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการศึกษาค้นพบของการแพทย์จีนพบว่า มีโรคทางจิตเวชหลายโรคที่สามารถรักษาด้วยวิธีการฝังเข็มได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น อาการปวดศรีษะ ปวดขมับ ปวดศรีษะแบบไมเกรน นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึม เหม่อลอย โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท ฮีสทีเรีย ปัญหาพัฒนาการล่าช้าในเด็ก เป็นต้น ในการวิเคราะห์สภาวะต่าง ๆ ในร่างกายของคนเรานั้น ทางการแพทย์จีนได้อธิบายด้วยองค์ประกอบหลายประการอาทิเช่น สภาวะความเป็นหยินและหยาง ที่สมดุล บกพร่อง หรือไม่สมดุล สภาวะของพลัง( ฉี้ ) ภายในร่างกายที่ไหลเวียนบนเส้นลมปราณที่ต่อเนื่อง เป็นระบบตลอดเวลา หรือไหลเวียนผิดทิศทาง ติดขัด สะดุด ไม่เป็นระบบ หรือไม่สม่ำเสมอ สภาวะร้อนหรือเย็นในร่างกายที่มีสภาพมากหรือน้อย หรือเป็นปกติ การวิเคราะห์สภาวะพร่อง (อ่อนแอ) หรือแกร่ง (แข็งแรง) ของสภาพร่างกาย การวิเคราะห์ปัญหาตำแหน่งที่เป็นโรคว่าอยู่ภายในหรือภายนอก อาการโรคหนักหรือเบา เป็นต้น การบำบัดรักษาผู้ป่วยทางจิตเวชด้วยวิธีการฝังเข็มจะวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยด้วยปัจจัยข้างต้น และจะเลือกจุดเพื่อการฝังเข็ม จากหลักของการวิเคราะห์การไหลเวียนของพลัง (ฉี้) ในเส้นลมปราณที่เกี่ยวข้องในระบบของร่างกาย รวมทั้งวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของโรคในระบบต่าง ๆ ของร่างกายและบริเวณที่เกิดอาการตามหลักทางการแพทย์ ซึ่งการฝังเข็มจะแทงเข็มลงจุดต่าง ๆ บนเส้นลมปราณของแต่ละเส้นในร่างกายที่ถูกเลือกไว้อย่างเหมาะสมด้วยเทคนิควิธีการแทงเข็มที่ถูกวิธีตามการวิเคราะห์โรคที่ถูกต้อง เพื่อให้การไหลเวียนของพลัง (ฉี้) มีสภาพคล่องขึ้น หรือเป็นปกติ ทำให้การเพิ่มหรือลดของภาวะร้อนหรือเย็นในร่างกาย เกิดการปรับสภาวะหยิน-หยาง ให้สมดุลขึ้น ทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมีสภาวะที่สมดุล ส่งผลให้การทำงานของจิตใจเป็นปกติ อาการต่าง ๆ สงบลงหรือทุเลาได้อย่างรวดเร็ว หรือกระตุ้นให้ระบบประสาทมีการทำงานที่เป็นปกติขึ้น อันจะทำให้สภาพของจิตใจนั้นปกติในที่สุด

Keywords: การบำบัดผู้ป่วยทางจิตเวชด้วยการฝังเข็ม, ผู้ป่วยทางจิตเวช, ฝังเข็ม, การฝังเข็ม, psychiatry, psychosis

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201430006233

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -