ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: คนึงนิตย์ วิชัยดิษฐ์ และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเครียดของบุคลากรโรงพยาบาลสวนสราญรมย์

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

บทนำ ความเครียดเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทำให้เกิดความวิตกกังวลไม่สบายใจและเกิดการเจ็บป่วยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ บุคลากรโรงพยาบาลสวนสราญรมย์เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยจิตเวช มีความเสี่ยงต่อการถูกผู้ป่วยทำร้าย บางรายเกิดความขัดแย้งในครอบครัว มีภาระหนี้สิน ต้องกู้เงินทั้งในและนอกระบบ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมบางอย่างไม่เอื้ออำนวย เช่น บ้านพักแออัด คับแคบ บางครั้งไม่มีความปลอดภัย การเดินทางไปมาไม่สะดวกจากปัญหาดังกล่าวข้างต้นจึงคาดว่าบุคลากรโรงพยาบาลสวนสราญรมย์น่าจะมีความเครียดแต่ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีความเครียดระดับใด และปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้องกับความเครียด จึงทำการวิจัยโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระดับความเครียด และปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดของบุคลากรโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ วิธีการ การวิจัยนี้เป็นการสำรวจระดับความเครียดและปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดของบุคลากรโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ โดยส่งแบบสอบให้บุคลากรจำนวน 638 คน ตอบแล้วส่งคืนซึ่งแบบสอบถามประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นข้อมูลทั่วไป ส่วนที่ 2 เป็นข้อคำถามเกี่ยวกับอาการพฤติกรรมและความรู้สึกของความเครียด และส่วนที่ 3 เป็นข้อคำถามเกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเครียดมี 4 ด้านคือ ด้านครอบครัว การงาน การเงิน และสิ่งแวดล้อม แบบสอบถามดังกล่าวได้นำมาทดลองใช้และปรับปรุงแก้ไข จึงนำไปเก็บข้อมูล ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรม SPSS for windowsหาค่าร้อยละของข้อมูลในแบบสอบถามทั้ง 3 ส่วน และหาความเกี่ยวข้องด้วยการทดสอบทางสถิติ CHI-SQUARE ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% ผลที่ได้ จากการศึกษาตามวิธีดังกล่าวพบว่าบุคลากรโรงพยาบาลสวนสราญรมย์มีความเครียด ระดับต่ำ ร้อยละ 79.1 ระดับปานกลางร้อยละ 16.3 และระดับสูงถึงรุนแรงร้อยละ 4.6 ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดมากที่สุด ได้แก่ ด้านการเงิน ร้อยละ 55.6 รองลงมาคือ ด้านครอบครัวและการงาน บุคลากรที่ระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี เครียดมากกว่าบุคลากรที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าหรือเท่ากับปริญญาตรี (p-value=0.042) สรุปและข้อเสนอแนะ จากการศึกษา สรุปได้ว่าบุคลากรโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ส่วนใหญ่ไม่เครียดหรือเครียดปกติ มีเพียงบางส่วนที่เครียดสูงถึงรุนแรง ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดมากที่สุด คือ รายได้ไม่พอรายจ่าย และความรู้น้อย จึงควรส่งเสริมให้บุคลากรรู้จักประหยัดใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และให้ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นโดยการจัดอบรม สนับสนุนให้บุคลากรมีการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีความเครียดสูง โดยการแนะนำให้ใช้บริการคลินิกคลายเครียดและให้คำปรึกษา

Keywords: เครียด, ความเครียด, stress

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201430006238

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -