ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมควร สีทาพา

ชื่อเรื่อง/Title: ประสิทธิผลการสอนทักษะชีวิตในนักเรียนมัธยมศึกษา อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

ตามที่กรมอนามัยได้สนับสนุนงบประมาณให้อบรมครู ศึกษานิเทศก์ พัฒนาการหน้าที่สาธารณสุข ตลอดทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนและเยาวชน ในเรื่องการสอนทักษะชีวิตด้วยการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อป้องกันเอดส์ สารเสพติดและพฤติกรรมเสี่ยงในเด็กและเยาวชน เริ่มปี 2537 เป็นต้นมา จากการติดตามผลพบว่า ผู้ผ่านการอบรมได้นำการสอนทักษะชีวิตลงสู่เด็กน้อยมากเนื่องจากจำนวนผู้เข้ารับการอบรมมีเพียงส่วนน้อย คือ 1-2 คนในโรงเรียน ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้ดำเนินการวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาประสิทธิผลการสอนทักษะชีวิตด้านเจตคติในการป้องกันการใช้สารเสพติดของนักเรียนมัธยมศึกษา ซึ่งได้นำเอาแผนการเรียนการสอนของกรมสุขภาพจิตและกรมอนามัยมาประยุกต์ใช้ในการอบรมครูประจำชั้นทุกคนของโรงเรียนที่เป็นกลุ่มทดลอง รวม 56 คน แล้วปล่อยให้ครูดำเนินการสอนผสมผสานไปกับการสอนในหลักสูตรปกติโดยไม่มีการควบคุมตัวแปรอื่นใดในระยะเวลา 1 ปีการศึกษา จึงประเมินดูความเปลี่ยนแปลงของทักษะชีวิตในนักเรียน กลุ่มทดลอง ม.1-ม.5 ชั้นปีละ 1 ห้องเรียน จำนวน 236 คน กลุ่มควบคุม 238 คน ซึ่งครูโรงเรียนที่เป็นกลุ่มควบคุมจะไม่ได้รับการอบรม ผลการวิจัย พบว่า ครูที่ผ่านการอบรมได้นำทักษะชีวิตไปใช้สอนอย่างต่อเนื่อง 7 คน สาเหตุที่ครูส่วนข้างมากไม่ได้ใช้สอนเนื่องจาก 1) นโยบายของกรมสามัญไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ 2) เวลาไม่พอสถานการณ์ไม่อำนวย 3) มีสื่ออื่น มากมายอยู่แล้วจึงใช้สอนแบบเดิม 4) เนื้อหาในคู่มือการสอนทักษะชีวิตไม่ตรงกับวิชาที่สอน 5) มีอาจารย์ที่สอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องโดยตรงอยู่แล้ว ผลการประเมินทักษะชีวิตด้านเจตคติในนักเรียน พบว่า มีความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยของความรู้สึกว่าสารเสพติดเป็นสิ่งใกล้ตัวของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมก่อนทดลอง X = 1.9 และ 1.8 หลังทดลอง X = 2.0 และ 1.9 ตามลำดับ คะแนนเของความรู้สึกเห็นใจผู้ติดสารเสพติดและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสารเสพติดก่อนดำเนินการ X = 1.9 และ 1.9 ตามลำดับ คะแนนเฉลี่ยของความรู้สึกต่อคุณค่าในตนเองก่อนการทดลองพบว่า X = 2.3 และ 2.6 หลังทดลอง X =2.6 และ 2.6 ตามลำดับ คะแนนเฉลี่ยของความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมก่อนทดลอง X = 2.3 และ 2.5 หลังทดลอง X = 2.6 และ 2.6 ตามลำดับ ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า เจตคติต่อการป้องกันการใช้สารเสพติดของกลุ่มตัวอย่าง มีการเปลี่ยนแปลงไปในด้านดีขึ้นจากคะแนนที่เปลี่ยนแปลงไป แม้จะไม่สูงนัก แต่ก็สรุปได้ว่าการอบรมครูประจำชั้นทุกคนในโรงเรียน เพื่อให้สอนทักษะชีวิตด้วยการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม มีผลทำให้นักเรียน ม.1-ม.5 อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น เกิดการเปลี่ยนแปลงของเจตคติในการป้องกันการใช้สารเสพติดได้ ข้อเสนอแนะ หากมีการอบรมครูโรงเรียนมัธยมศึกษาอีก ควรเป็นการอบรมครูทุกคนในแต่ละหมวดวิชาเพราะการอบรมครูประจำชั้นทุกคนนั้นจะพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของเจตคติไม่โดดเด่นนัก เพราะครูประจำชั้นสังกัดอยู่คนละหมวดวิชา จึงมีครูที่นำทักษะชีวิตลงสู่เด็กเพียง 7 คน ถ้าครูที่ผ่านการอบรมสังกัดอยู่หมวดวิชาเดียวกัน คาดว่าจะทำให้ผลการเปลี่ยนแปลงทักษะชีวิตของนักเรียนดีขึ้นกว่านี้

Keywords: ทักษะชีวิต, นักเรียน, เยาวชน, สารเสพติด, พฤติกรรมเสี่ยง, สุขภาพจิต, psychology, student, drug, behavior

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพเขต 6 ขอนแก่น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201430006239

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -