ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ปัทมา จารุวัต

ชื่อเรื่อง/Title: เทคนิคการผ่อนคลายเครียดด้วยการฝึกสมาธิ..ประโยชน์ที่แท้จริง

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบัน ล้วนตกอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกันนั่นคือการเผชิญกับความเครียด ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นและแผ่กระทบไปในสังคมทุกชนชั้นและทุกวัยจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปัจจุบันประชาชนได้ป่วยเป็นโรคเครียดเพิ่มขึ้น รวมทั้งอัตราการเป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกับความเครียดก็เพิ่มตามด้วยเช่นกัน เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคกระเพาะ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ซึ่งบางโรคจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเมื่อตกอยู่ในสภาวะเครียดที่รุนแรง เช่นผู้ที่มีความดันสูง เมื่อเผชิญกับความเครียดอาจส่งผลให้เส้นเลือดในสมองแตก จนเกิดอัมพาตได้ หรือในผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ความเครียดอาจส่งผลให้หัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest) โดยเฉียบพลันได้ ความเครียด เป็นสิ่งที่ทุก ๆ คนจะต้องประสบ ระดับของความเครียดถ้ามีเพียงเล็กน้อย ก็จะเป็นพลังกระตุ้นให้มีความกระตือรือร้นในการทำงาน แต่ถ้าระดับของความเครียดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ได้รับการแก้ไขย่อมส่งผลต่อการเผชิญปัญหาของบุคคลนั้น ๆ อย่างแน่นอน ความเครียด ตามพจนานุกรมฉบับเวบสเตอร์ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “แรงดัน” หรือความกดดัน หรือ กำลังดึง ซึ่งทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย” พะยอม อิงคตานุวัฒน์ กล่าวว่า “ความเครียดเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้มนุษย์พยายามหลีกเลี่ยง หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรภาพหรืออารมณ์ร่วมกัน” ความเครียดของแต่ละบุคคลย่อมมีความแตกต่างกัน เพราะในสภาวะหรือเหตุการณ์ซึ่งคน ๆ หนึ่งมองว่าเป็นภาวะที่คุกคามและก่อให้เกิดความเครียด บุคคลอีกคนหนึ่งอาจมองเห็นว่าเป็นสิ่งท้าทายและพึงพอใจต่อสภาวะนั้น ๆ ก็ได้ ดังนั้นในคนที่รู้สึกว่าสามารถเผชิญและจัดการกับภาวะนั้นได้ก็ไม่ถือว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความเครียด แต่คนที่ไม่สามารถเผชิญกับเหตุการณ์นั้นได้ก็จะเกิดความเครียดขึ้น และเมื่อใดก็ตามที่บุคคลเกิดความเครียดจะเกิดกลไกในการตอบสนองทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ทางด้านร่างกายได้แก่ความดันโลหิตสูง อัตราการหายใจ และอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ความตึงตัวของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นร่วมกันมี Lactic acid เพิ่มขึ้น จึงทำให้มีอาการปวดเมื่อย เป็นต้น นอกจากนี้บุคคลนั้นจะมีการตอบสนองทางด้านจิตใจ โดยจะพยายามปกป้องตัวเองให้พันจากความไม่สบายใจ เพื่อที่จะควบคุมหรือบรรเทาภาวะตึงเครียดที่มาคุกคามซึ่งเป็นการลดความกดดันทางจิตใจและอารมณ์นั่นเอง แต่เนื่องจากภาวะคุกคามและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความเครียดในสภาพสังคมปัจจุบันนี้มีความรุนแรงขึ้น ระดับความเครียดของแต่ละบุคคลก็เพิ่มทวีสูงขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่แต่ละบุคคลจะต้องค้นหาวิธีการผ่อนคลายความเครียดให้กับตนเอง ไม่เช่นนั้นความเครียดที่ไม่ได้รับการแก้ไขจะถูกสะสมไว้ภายในจิตใจเพิ่มขึ้น ๆ ซึ่งจะบั่นทอนต่อสุขภาพและนำไปสู่ภาวะวิกฤตทางจิตใจ เช่น การฆ่าตัวตาย การทำร้ายตัวเอง และทำร้ายผู้อื่น เป็นต้น

Keywords: เครียด, ความเครียด, เทคนิคการผ่อนคลายเครียด, การฝึกสมาธิ, การพยาบาล, กิจกรรมพยาบาล, การพยาบาลจิตเวช, nursing care, relaxation tecnique, psychiatric nursing, stress

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: ภาควิชาการพยาบาลศัลยศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย

Code: 201430006240

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -