ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมหมาย เลาหะจินดา, วนิดา พุ่มไพศาลชัย

ชื่อเรื่อง/Title: ลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่กับความคิดฆ่าตัวตายของเด็กวัยรุ่น

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสำรวจถึงลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ลักษณะการเลี้ยงดูที่เด็กวัยรุ่นต้องการหรือไม่ต้องการ และลักษณะการเลี้ยงดูที่สัมพันธ์กับความคิดฆ่าตัวตายของเด็กวัยรุ่น วิธีการ กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีกำลังเรียนอยู่ในระดับมัธยมในเขตภาคเหนือ จำนวน 1,184 คน ได้จากการสุ่มแบบกลุ่มหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสำรวจความคิดอยากฆ่าตัวตายที่มีผู้พัฒนาและหาค่าความถูกต้องมาแล้ว แบบสำรวจลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น สถิติที่ใช้วิเคราะห์คือ ไคว์สแคว ผลที่ได้ ผลการวิจัยพบว่า ลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ที่ปฏิบัติกับลูกวัยรุ่นในเขตภาคเหนือจะมีหลาย ๆ ลักษณะร่วมกัน ส่วนมากจะเป็นลักษณะที่ดี คือ เป็นแบบรักและสนับสนุนเด็ก แบบใช้เหตุผล แบบให้ลูกรู้จักพึ่งตนเอง ส่วนการเลี้ยงดูแบบควบคุมและแบบลงโทษลูกนั้นมีไม่มาก แต่ถ้าใช้อัตราการคิดฆ่าตัวตายมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาจะสามารถจัดกลุ่มลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ออกได้เป็น 3 แบบใหญ่ ได้แก่ แบบแรกเป็นการเลี้ยงดูในลักษณะที่เป็นบวก คือ ถ้าพ่อแม่เลี้ยงดูลูกในลักษณะเหล่านี้แล้ว อัตราการคิดฆ่าตัวตายของเด็กจะต่ำกว่าเด็กที่พ่อแม่ละเลยไม่ได้เลี้ยงดูในลักษณะเหล่านี้อย่างมีนัยสำคัญ (P‹0.05)แบบที่สอง เป็นการเลี้ยงดูในลักษณะที่เป็นลบ คือลักษณะการเลี้ยงดูที่พ่อแม่ปฏิบัติกับเด็กแล้ว อัตราการคิดฆ่าตัวตายจะสูงกว่าที่ไม่ปฏิบัติอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) แบบที่สาม เป็นลักษณะการเลี้ยงดูที่ไม่ว่าพ่อแม่จะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอัตราการคิดฆ่าตัวตายของเด็กวัยรุ่นจะไม่มีความแตกต่างกัน เด็กวัยรุ่นมากกว่า 40% ต้องการให้พ่อและแม่ปฏิบัติกับตนดังนี้คือ การแสดงความรักความอบอุ่น การเอาใจใส่ไต่ถามทุกข์สุข คอยสนับสนุนช่วยเหลือยามลูกมีปัญหา ให้ความสำคัญกับลูก ทำกิจกรรมร่วมกันบ่อย ๆ เป็นคนมีเหตุผลรับฟังความคิดเห็นของลูก ปล่อยให้ลูกทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันด้วยตนเองให้รางวัลเมื่อลูกทำดี ลักษณะของพ่อแม่ที่เด็กไม่ต้องการที่เหมือนกันใน 5 อันดับแรก คือลูกไปไหนต้องตามไปด้วยแทบไม่ให้คลาดสายตา ไม่ไว้วางใจลูก สนใจก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของลูกมากเกินไป ลักษณะของพ่อที่ต่างจากของแม่คือ ชอบด่าว่าลูกเป็นประจำ ชอบตำหนิ นินทาลูกให้คนอื่นฟัง ส่วนลักษณะของแม่ที่ลูกไม่ต้องการต่างจากของพ่อ ได้แก่ การรักลูกไม่เท่ากัน ทำร้าย ทุบตีหรือทำให้เจ็บตัวเมื่อลูกทำผิด สำหรับลักษณะที่ลูกชายและลูกสาวไม่ต้องการให้พ่อแม่ปฏิบัติกับตนนั้นมีลักษณะใกล้เคียงกัน จากข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างความคิดฆ่าตัวตายกับลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ลูกต้องการ พบว่าความต้องการของลูกเข้ามามีอิทธิพลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะการเลี้ยงดูที่พ่อแม่ปฏิบัติกับลูกที่เคยสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญกับความคิดฆ่าตัวตายเปลี่ยนไปโดยเด็กวัยรุ่นที่พ่อปฏิบัติตรงกับที่ลูกต้องการจะมีความคิดฆ่าตัวตายต่ำกว่าวัยรุ่นที่พ่อละเลยไม่ได้เลี้ยงดูในลักษณะที่ลูกต้องการอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) ซึ่งมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ การแสดงความรัก ความอบอุ่นต่อลูกเสมอ ให้ความสำคัญกับลูกจนลูกรู้สึกมีคุณค่า ทำกิจกรรมร่วมกับลูกบ่อย ๆส่วนลักษณะการเลี้ยงดูของแม่ที่ปฏิบัติตรงกับที่ลูกต้องการแล้วพบว่าอัตราการคิดฆ่าตัวตายต่ำกว่าวัยรุ่นที่แม่ละเลยไม่ได้ปฏิบัติตามที่ลูกต้องการอย่างมีนัยสำคัญมี 5 ลักษณะ ได้แก่ การแสดงความรักความอบอุ่นต่อลูกเสมอ เป็นห่วงเป็นใยลูกตลอดเวลา เอาใจใส่ไต่ถามทุกข์สุขลูกเป็นประจำให้ความสนิทสนมกับลูก และคอยสนับสนุนช่วยเหลือเมื่อลูกมีปัญหา ลักษณะการเลี้ยงดูที่ลูกไม่ต้องการแต่พ่อกลับปฏิบัติ เด็กวัยรุ่นจะมีอัตราการคิดฆ่าตัวตายสูงกว่าวัยรุ่นที่พ่อไม่ปฏิบัติต่อเขาในสิ่งที่เขาไม่ชอบอย่างมีนัยสำคัญ มีอยู่ 6 ลักษณะได้แก่ การดุด่า ตำหนิ ทำท่าไม่พอใจเมื่อลูกทำผิด การถือว่าพ่อแม่ต้องถูกเสมอ พ่อทำแต่งานไม่มีเวลาให้ลูก ไม่ชอบให้ลูกอยู่ใกล้ สนใจก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของลูกมากเกินไป เคร่งครัดประเพณีและให้ลูกปฏิบัติตาม ส่วนลักษณะการเลี้ยงดูของแม่ที่ลูกไม่ต้องการนั้น พบว่าถ้าแม่ปฏิบัติกับลูกในขณะที่ลูกไม่ต้องการนั้นอัตราการคิดฆ่าตัวตายจะสูงกว่าวัยรุ่นที่แม่ไม่ปฏิบัติเช่นนั้นกับลูกอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) มี 5 ลักษณะคือ แม่สนใจก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของลูกมากเกินไป บังคับให้ลูกทำในสิ่งที่ลูกไม่ชอบ ให้ไปเที่ยวกับพ่อแม่พี่น้องเท่านั้น บังคับให้ใช้เงินอย่างจำกัดเกินไปและไม่สนใจว่าลูกจะเป็นอย่างไร เห็นได้ว่าการคิดฆ่าตัวตายในเด็กวัยรุ่นที่พ่อแม่ปฏิบัติกับลูกในลักษณะที่ลูกไม่ชอบนั้น จะสูงกว่าเด็กวัยรุ่นที่พ่อแม่ละเลยไม่ปฏิบัติในลักษณะที่วัยรุ่นต้องการ สรุปและข้อเสนอแนะ การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่และความต้องการของลูก เป็นปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการมีความคิดอยากฆ่าตัวตายในวัยรุ่นการนำวิธีเลี้ยงลูกมาเป็นแนวทางสำหรับพัฒนาโปรแกรมลดหรือป้องกันปัญหาคิดฆ่าตัวตายในเด็กวัยรุ่นนั้น ควรพิจารณาให้ความสำคัญกับลักษณะการเลี้ยงดู และความต้องการของวัยรุ่นต่อการเลี้ยงดูของพ่อแม่ในแต่ละลักษณะที่สัมพันธ์กับความคิดฆ่าตัวตายของวัยรุ่นด้วย จะช่วยให้แนวทางนั้นเกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น และโปรแกรมหนึ่งที่พัฒนาขึ้นมาอาจจะไม่เหมาะต่อการนำไปใช้กับวัยรุ่นทุก ๆ คน อย่างไรก็ตามการศึกษาครั้งนี้เป็นเพียงกลุ่มตัวอย่างเด็กนักเรียนวัยรุ่นในเขตภาคเหนือ ซึ่งอาจแตกต่างกับเด็กวัยรุ่นที่ไม่ได้เรียนหรือเด็กวัยรุ่นในภาคอื่น ๆ ของประเทศอาจไม่เหมาะสมนักหากนำไปใช้อ้างอิงเด็กวัยรุ่นกลุ่มอื่น ๆ ที่มีลักษณะพื้นฐานแตกต่างไปจากนี้ได้ ซึ่งในอนาคตควรทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

Keywords: วัยรุ่น, ฆ่าตัวตาย, suicide, suicidal idea, adolescent

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201430006243

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -