ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นิภาพร ลครวงศ์

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการสำรวจการให้บริการบำบัดรักษายาเสพติด ปี 2543

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

ปัจจุบันปัญหายาเสพติดกลายเป็นปัญหาที่ร้ายแรงและมีการขยายตัวของปัญหาเพิ่มขึ้นทุกวัน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ประกาศให้โรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขขึ้นทะเบียนเป็นสถานบำบัดรักษายาเสพติด โรงพยาบาลยโสธรก็เช่นเดียวกันที่รับผิดชอบงานด้านนี้ และเพื่อเป็นการพัฒนางาน โรงพยาบาลยโสธรจึงได้ทำการวิจัยสำรวจรูปแบบการให้บริการบำบัดรักษายาเสพติดโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป จำนวน 92 แห่ง ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลที่ได้มาวิเคราะห์ปรับปรุงและพัฒนางานยาเสพติด ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ได้ทำการศึกษารูปแบบการให้บริการ บุคลากรที่ดำเนินงาน การบำบัดรักษาและนโยบายในการดำเนินงาน ใช้แบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นแบ่งออกเป็นแบบสอบถามสำหรับผู้อำนวยการโรงพยาบาลและสำหรับผู้รับผิดชอบงานยาเสพติด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยาย และนำเสนอเป็นค่าร้อยละ ผลการวิจัย พบว่า 1. ส่วนใหญ่จะเป็นการดำเนินงานในโรงพยาบาลทั่วไป (คิดเป็นร้อยละ 71.9 มีปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดส่วนใหญ่อยู่ในระดับมาก (คิดเป็นร้อยละ 44.3) มีนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยส่วนใหญ่จะเน้นด้านการป้องกัน การบำบัดรักษาและด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ การดำเนินงานมีทั้งแบบเขิงรับและเชิงรุก และส่วนใหญ่จะมีนโยบายการดำเนินงานดังนี้คือ จัดตั้งสถานที่ให้บริการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดเฉพาะ จัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการให้บริการ การพัฒนาบุคลากรในการให้บริการ จัดสรรงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมป้องกัน แก้ไข ปัญหายาเสพติดและมีการสนับสนุนงานวิชาการและงานวิจัยเกี่ยวกับยาเสพติด 2. รูปแบบการให้บริการส่วนใหญ่ให้บริการแบบผู้ ป่วยนอก (คิดเป็นร้อยละ 87.5) มีผู้รับผิดชอบโดยเฉลี่ย 4 คน ส่วนใหญ่เป็นแพทย์และพยาบาล เปิดให้บริการ 5 วัน ในเวลาราชการ มีขั้นตอนการบำบัดครบ 4 ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมการก่อนรักษา การถอนพิษยาการฟื้นฟู สมรรถภาพและการติดตามผลการรักษา มีจำนวนผู้เข้ารับการรักษาครบทุกขั้นตอน อยู่ในระดับมาก วิธีการบำบัดรักษาส่วนใหญ่จะให้ยารักษาตามอาการ ใช้ยาทดแทนและให้คำปรึกษา มีจำนวนผู้รับการรักษาขาดการรักษาอยู่ในระดับน้อย ในรายที่ขาดการรักษาส่วนใหญ่ไม่มีการติดตาม ความพึงพอใจในการบำบัดรักษา อยู่ในระดับปานกลาง (คิดเป็นร้อยละ 53.7) มีการจัดทำมาตรฐานการบำบัดรักษาชัดเจนและมีการจัดโครงการเกี่ยวกับการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดแต่ในการทำงานวิจัยด้านนี้ส่วนใหญ่ไม่เคยทำ สรุปผลและข้อเสนอแนะ จากการศึกษาการดำเนินงานด้านนี้ยังมีปัญหาและอุปสรรคอยู่มาก ดังนั้นในการดำเนินงานควรมีทิศทางไปในทางเดียวกัน ควรมีการร่วมมือกันหลาย ๆ ฝ่าย ผู้รับผิดชอบงานควรได้รับการอบรมเฉพาะด้าน และควรทำการศึกษาวิจัยด้านนี้ให้มากขึ้น

Keywords: ยาเสพติด, การบำบัดรักษายาเสพติด, สารเสพติด, การบำบัด, การสำรวจ, drug abuse, substance dependence, drugs

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลยโสธร สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201430006247

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -