ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กิตติวรรณ เทียมแก้ว, พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์, ภาวดี (กิตติคุณ) การเร็ว, นิฐนารถ อินต๊ะ

ชื่อเรื่อง/Title: การทบทวนการลงบันทึกข้อมูลผู้ป่วยจำหน่าย โรงพยาบาลสวนปรุง

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทบทวนการลงบันทึกข้อมูลผู้ป่วยจำหน่ายของโรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์รองเพื่อศึกษาถึงค่าความคลาดเคลื่อนของการลงบันทึกข้อมูลของผู้ป่วยจำหน่ายของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง (เปรียบเทียบระหว่างช่วงแรกคือ ช่วงวันที่ 1 กุมภาพันธ์-31 มีนาคม 2543 และช่วงหลังคือ ช่วงวันที่ 1 เมษายน-31 พฤษภาคม 2543) วิธีการ เก็บรวบรวมข้อมูลความคลาดเคลื่อนในการลงบันทึกของบุคลากรที่เกี่ยวข้องจากใบสรุปการรักษาของผู้ป่วยใน (ใบ รพจ.14) ใบ Discharge Summary ที่องค์กรแพทย์ของโรงพยาบาลสวนปรุงได้พัฒนาขึ้นใช้เองในโรงพยาบาลสวนปรุง เวชระเบียนผู้ป่วย ข้อมูลที่ได้มีการบันทึกไว้แล้วในคอมพิวเตอร์ โปรแกรมอีสาน 3 ที่งานเวชระเบียนและสถิติ โดยกลุ่มตัวอย่างจำนวน 339 แฟ้ม ได้จากการสุ่มตัวอย่างจากเวชระเบียนผู้ป่วยจำหน่ายในที่ได้รับการจำหน่ายในช่วงระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543-31 พฤษภาคม 2543 ซึ่งมีจำนวน ทั้งสิ้น 2,166 ใบ และเก็บรวบรวมข้อความคลาดเคลื่อนในการลงบันทึกในใบสรุปค่าใช้จ่ายจากใบสรุปค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยจำหน่ายทุกรายที่ได้เก็บไว้ ณ กลุ่มงานเภสัชกรรมอีกส่วนหนึ่งในช่วงระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543-31 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 โดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลแบบย้อนหลัง ผลที่ได้ ผลการวิจัยพบว่า บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยในคือแพทย์ เจ้าหน้าทีเวชระเบียนฯ และเจ้าหน้าที่ทางการพยาบาล และเมื่อแยกศึกษาความคลาดเคลื่อนในการลงบันทึกข้อมูลของบุคลากรที่เกี่ยวข้องแล้ว พบว่า ความคลาดเคลื่อนในการลงบันทึกข้อมูลของแพทย์ตามการวิเคราะห์ความผิดพลาดในการลงรหัสของ Donoghue M. เปรียบเทียบระหว่างการศึกษาช่วงแรกกับช่วงหลังมีจำนวนลดลง นั่นคือ ความคลาดเคลื่อนในการลงข้อมูลของแพทย์ที่พบมากที่สุดคือ ลง .8 .9 เพราะการระบุไม่ชัดเจนในแฟ้มผู้ป่วย (จาก 71 ครั้ง เป็น 36 ครั้ง) รองลงมาคือ รหัสขาดหายจากสรุป แต่พบในแฟ้มผู้ป่วย (จาก 21 ครั้ง เป็น 6 ครั้ง) ส่วนเหตุผลของความคลาดเคลื่อนอื่น ๆ ที่พบมากที่สุดคือการไม่ลงรหัสให้ ก็มีจำนวนลดลง (จาก60 ครั้ง เป็น 39 ครั้ง) และเมื่อนับจำนวนรวมทั้งหมดพบว่าความคลาดเคลื่อนในการลงบันทึกข้อมูลของแพทย์ลดลงจาก 215 ครั้งเป็น 101 ครั้ง ส่วนความคลาดเคลื่อนในการลงบันทึกข้อมูลของแพทย์ลดลงจาก 215 ครั้ง เป็น 101 ครั้ง ส่วนความคลาดเคลื่อนในการลงบันทึกข้อมูลของเจ้าหน้าที่เวชระเบียน ฯ และเจ้าหน้าที่ทางการพยาบาล ก็มีจำนวนลดลงเช่นเดียวกัน นั่นคือเจ้าหน้าที่เวชระเบียนฯ ไม่แนบใบสรุปการรักษา ( รพจ.14) ในเวชระเบียน ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดในช่วงแรก มีจำนวนถึง 61 ครั้ง แต่กลับไม่พบเลยในช่วงหลัง และในส่วนความคลาดเคลื่อนในการลงบันทึกข้อมูลของเจ้าหน้าที่ทางการพยาบาลโดยเฉพาะเรื่องการลงข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยเมื่อคิดเป็นจำนวนรวมแล้ว จากเดิมสูงถึง 221 ครั้ง เหลือเพียง 4 ครั้ง ส่วนความคลาดเคลื่อนในการลงบันทึกเรื่องอื่น ๆ ของเจ้าหน้าที่ทางการพยาบาลที่พบสูงสุด คือ การไม่แนบใบ Discharge Summary ในเวชระเบียนผู้ป่วยเมื่อได้รับการ Admit จากช่วงแรกพบ 10 ครั้งมาเป็นไม่พบเลยในช่วงหลัง สำหรับการศึกษาความคลาดเคลื่อนในการลงบันทึกข้อมูลในใบสรุปค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยจำหน่ายทั้งหมด 2,166 ราย พบว่า ความคลาดเคลื่อนในการลงบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายนั้นมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด คือ เมื่อรวมค่าใช้จ่ายทุกรายการที่มีความผิดพลาดแล้ว พบว่ามีค่าลดลงจากจำนวน 651,862 บาท ในช่วงแรก มาเป็น 11,170 บาท ในช่วงหลัง และจำนวนรวมของความคลาดเคลื่อนในการลงบันทึกข้อมูลอื่น ๆ ในใบสรุปค่ารักษาพยาบาลก็ลดลงมาจาก 314 มาเป็น 272 ครั้ง แต่เมื่อศึกษาในรายละเอียดกลับพบว่าความคลาดเคลื่อนในการไม่ลงสภาพการจำหน่ายกลับสูงขึ้นคือจาก 74 ครั้ง ในช่วงแรก มาเป็น 101 ครั้งในช่วงหลัง สรุปและข้อเสนอแนะ ผลการวิจัยนี้ ทำให้เห็นว่ามีความคลาดเคลื่อนในการลงบันทึกข้อมูลของโรงพยาบาลสวนปรุงอยู่ในระดับหนึ่ง แต่มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบระหว่างช่วงแรกและช่วงหลัง ทั้งนี้เกิดจากการชึ้แจงให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของการลงบันทึกข้อมูล และการปรับปรุงขั้นตอนการทำงาน ซึ่งทำให้เกิดความร่วมมือจากบุคลากรทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแพทย์ จึงทำให้ความคลาดเคลื่อนของการบันทึกข้อมูลลดน้อยลง ดังนั้นควรมีการทบทวนการลงบันทึกข้อมูลของผู้ป่วยทั้งหมดของโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ ทั้งนี้เพราะข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้จะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ป่วยในแง่ของการรักษา และต่อทางโรงพยาบาลเองทั้งในแง่ของการลดความสูญเสียที่เกิดจากความคลาดเคลื่อนในการลงบันทึกค่าใช้จ่าย และในแง่ของการมีฐานข้อมูลผู้ป่วยที่ถูกต้องและเหมาะสมกับการไปใช้ในการพัฒนาการบริการผู้ป่วย ยกตัวอย่าง เช่น การนำไปใช้ในเป็นฐานข้อมูลในเรื่องของกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมทางจิตเวช นอกจากนี้ยังจะส่งผลให้ทางโรงพยาบาลมีระบบสารสนเทศที่เอื้อต่อการพัฒนามาตรฐานโรงพยาบาลได้อีกทางหนึ่ง

Keywords: ผู้ป่วยใน, บันทึกข้อมูลผู้ป่วย, ข้อมูลของผู้ป่วยจำหน่าย, ผู้ป่วยจิตเวช, ผู้ป่วยโรคจิต, เวชระเบียน, discharge summary, psychiatriv patient, psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201430006249

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -