ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมหมาย เลาหะจินดา, เจริญพร กิจชนะพานิชย์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาผลกระทบทางสังคมและจิตใจของญาติผู้เสียชีวิต กรณีการระเบิดในโรงงานอบลำไยของบริษัทหงไทยเกษตรพัฒนาจำกัด อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงผลกระทบด้านจิตใจและสังคมของครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์โรงงานอบลำใยของบริษัทหงไทยเกษตรพัฒนา จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งฟ้าบด ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้เกิดระเบิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2542 ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือที่เหมาะสมแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต วิธีการ โดยการสัมภาษณ์ญาติผู้เสียชีวิตที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่จังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ 27 ราย ส่วนจังหวัดอื่น ๆ อีก 9 ราย ส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ไปยังครอบครัวผู้เสียชีวิต แบบสอบถามที่ใช้ประกอบด้วยข้อมูลทั่วไป ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นเองและแบบวัดภาวะสุขภาพจิต (พัฒนาขึ้นโดย พญ.อัมพร โอตระกูลและคณะ) ญาติผู้เสียชีวิตตอบแบบสอบถามที่นำมาวิเคราะห์ได้ 30 ราย (ร้อยละ 83.33) โดยใช้สถิติ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และการทดสอบเปรียบเทียบค่า T (t-test) ผลที่ได้ ผลการศึกษาพบว่าญาติผู้เสียชีวิตที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 66.7) มีอายุอยู่ในช่วงวัยกลางคน อายุ 35-65 ปี (ร้อยละ 76.6) สถานภาพสมรสแล้วอยู่ด้วยกัน (ร้อยละ 56.7) ทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ มีบุตร (ร้อยละ 86.7) ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งมีบุตร 2 คน (ร้อยละ 50.0) ประกอบอาชีพทางการเกษตรและรับจ้าง (ร้อยละ 33.3) จบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 (ร้อยละ 73.3) มีรายได้เดือนละ 2,001-3,000 บาท ( ร้อยละ 43.3) ฐานะของครอบครัวก่อนเกิดเหตุการณ์ พอกินพอใช้ (ร้อยละ 63.3) หลังเกิดเหตุการณ์ฐานะทางการเงินไม่พอใช้ (ร้อยละ 46.7) มีที่อยู่เป็นของตนเอง (ร้อยละ 96.7) โดยมีผู้อาศัยในครอบครัว 2-4 คน(ร้อยละ 83.3) มีความสัมพันธ์กับผู้เสียชีวิตเป็นบิดามารดา (ร้อยละ 60.0) สำหรับผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เพิ่งทำงานในโรงงานไม่ถึง 6 เดือน (ร้อยละ 80.0) มีรายได้ระหว่าง 4,001-5,000 บาท (ร้อยละ 46.7) โดยมีบทบาทเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว (ร้อยละ 80.0) ผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ญาติผู้เสียชีวิตได้รับคือ ทั้งหมดได้รับความสะเทือนใจรองลงมาร้อยละ 90.0 ขาดรายได้จากผู้เสียชีวิต ร้อยละ 83.3 ขาดแคลนค่าใช้จ่ายในครอบครัวร้อยละ 70.0 เกิดภาวะความเครียดในครอบครัว และร้อยละ 56.7 คนในครอบครัวรู้สึกสับสนวุ่นวายใจ ทั้งนี้ความต้องการที่ญาติผู้เสียชีวิตต้องการการช่วยเหลือมากที่สุดคือ การช่วยเหลือด้านการเงิน (ร้อยละ 86.7) รองลงมาต้องการความช่วยเหลือด้านสภาพจิตใจ เช่น การพูดคุยปลอบโยน ให้กำลังใจ การตรวจเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยในระยะยาว ฯลฯ ร้อยละ 56.7 สำหรับภาวะสุขภาพจิตของญาติผู้เสียชีวิต ก่อนเกิดเหตุการณ์ส่วนใหญ่ มีภาวะสุขภาพจิตดี ร้อยละ 66.7 มีภาวะสุขภาพจิตดีปานกลาง ร้อยละ 26.7 และร้อยละ 6.7 มีภาวะสุขภาพจิตไม่ดี หลังเกิดเหตุการณ์ญาติผู้เสียชีวิตมีภาวะสุขภาพจิตไม่ดีเพิ่มเป็นร้อยละ 46.7 ภาวะสุขภาพจิตดีปานกลาง 36.7 และภาวะสุขภาพจิตดีเหลือเพียง ร้อยละ 16.7 แต่เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย คะแนนรวมภาวะสุขภาพจิตระหว่างก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุการณ์พบว่าไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 สรุปและข้อเสนอแนะ แนวทางในการช่วยเหลือนักสังคมสงเคราะห์ควรมีบทบาทในการเป็นตัวกลาง โดยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน การติดต่องานเพื่อให้ญาติผู้เสียชีวิตเข้าถึงทรัพยากรที่ต้องการและมีอยู่ เป็นผู้สนับสนุน ให้กำลังใจ และติดตามเฝ้าระวังการเกิดปัญหาสุขภาพจิตต่อไป

Keywords: การระเบิดในโรงงานอบลำไย, ผลกระทบด้านจิตใจ, สุขภาพจิต, ครอบครัวผู้เสียชีวิต, เครียด, ความเครียด, mental health, crisis, stress

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201430006251

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -