ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เกียรติสุดา ธรรมโรจน์, เทพินทร์ บุญกระจ่าง, จิรังกูร ณัฐรังสี

ชื่อเรื่อง/Title: ประเมินผลลัพธ์การพัฒนาเครือข่ายงานสุขภาพจิตจังหวัดศรีสะเกษ

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

บทนำ วัตถุประสงค์ เป้าหมายสูงสุดในการดำเนินงานสุขภาพจิต คือประชาชนสามารถดำรงชีวิตอยู่สังคมได้อย่างมีความสุขภายใต้บริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้ป่วยโรคจิตเป็นกลุ่มที่จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะจากการดำเนินงานที่ผ่านมาในเขตการสาธารณสุขที่ 7 พบว่ามีปัญหาในการให้บริการผู้ป่วยในระบบ ส่งต่อมากกว่าร้อยละ 70 ขึ้นไป ผู้ให้บริการขาดความมั่นใจในการให้บริการ และในขณะเดียวกันก็พบว่า มากกว่าร้อยละ 50 มีแผนงานสุขภาพจิตไม่ชัดเจน จังหวัดศรีสะเกษเป็นพื้นที่มีผู้ป่วยโรคจิตสูงที่สุดในเขตพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายสุขภาพจิตจังหวัดนำร่องขึ้นในปี พ.ศ. 2542 โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่เคยทำมาและเริ่มกิจกรรมใหม่ อาทิสัมมนาผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิตการให้บริการผู้มีปัญหาทางจิตเวชโดยเครือข่ายระบบส่งต่อการส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยโรคจิต การสนับสนุนยาโรคจิตและสื่อต่าง ๆ ตลอดจนการติดตามเยี่ยมผู้ป่วยและครอบครัวร่วมกันเป็นทีม เมื่อการดำเนินงานได้ผ่านไปเป็นระยะเวลาพอสมควร จึงได้มีการติดตามดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น โดยมุ่งประเมินที่ตัวผู้ป่วยโรคจิต ญาติ และเพื่อนบ้าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทราบถึงความคิดเห็นของชุมชนที่มีต่อผู้ป่วยโรคจิต และการมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยในชุมชนว่าเป็นอย่างไร ในพื้นที่ ที่ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามโครงการพัฒนาเครือข่ายงานสุขภาพจิต วิธีการประเมิน โดยการสังเกต การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม หลังจากนั้นได้วิเคราะห์ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ผลการประเมิน พบว่า ทัศนคติของญาติที่มีต่อผู้ป่วยโรคจิตอยู่ในระดับดี ส่วนใหญ่มีความ รู้สึกสงสารผู้ป่วย อยากให้ผู้ป่วยหาย บางครั้งก็รู้สึกเบื่อหน่ายบ้างที่จะต้องดูแลผู้ป่วยโรคจิต เกือบครึ่งที่ผู้ถูกสัมภาษณ์บอกว่า ผู้ป่วยโรคจิตเป็นภาระให้ครอบครัวเสมอ แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม ด้านการปฏิบัติตัวของญาตินั้นสอดคล้องกับทัศนคติที่ญาติมีต่อผู้ป่วย และพบว่าขณะนี้ครอบครัวของผู้ป่วยมีความสุขดี สมาชิกในครอบครัวมีการพูดคุยกับผู้ป่วยเป็นปกติดีเมื่อผู้ป่วยมีปัญหาสามารถระบายความทุกข์ใจได้ ที่สำคัญคือ สมาชิกในครอบครัวช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและยอมรับการเจ็บป่วยของผู้ป่วยโรคจิตได้ และญาติมีความเข้าใจและอดทนอดกลั้นต่อพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้ป่วยได้มากขึ้น รวมทั้งญาติปฏิบัติต่อผู้ป่วยโรคจิตดีขึ้น โดยสรุป อาจกล่าวได้ว่า ผลจากการพัฒนาเครือข่ายสุขภาพจิตจังหวัดศรีสะเกษทำให้ได้รูปแบบการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม ผู้ปฏิบัติงานมีการเรียนรู้ร่วมกันมากขึ้น และที่สำคัญคือ การมีส่วนร่วมของญาติและชุมชนมีความเป็นรูปธรรมชัดเจน รวมถึงระบบและกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีผลต่อการประเมิน ผลลัพธ์การพัฒนาเครือข่ายงานสุขภาพจิตจังหวัดในทางที่ดี จึงน่าจะได้ขยายผลต่อไป

Keywords: จิตเวชชุมชน, เครือข่ายงานสุขภาพจิต, เครือข่าย, สุขภาพจิต, community, mental health

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201430006256

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -