ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สิริวรรณ เดียวสุรินทร์, แพรวพรรณ ตันสกุล, จรุงทิพย์ ฟองฟุ้ง และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: โครงการบริการสุขภาพเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าที่บ้าน

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 8 วันที่ 23-25 สิงหาคม 2543

รายละเอียด / Details:

บทนำ จากการสำรวจชุมชนที่อยู่ในความรับผิดชอบร่วมกับ อสม. พบเด็กพัฒนาการล่าช้าจำนวน 13 คนที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อย สร้างภาระและความวิตกกังวลให้กับทั้งครอบครัวและชุมชน เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าเป็นกลุ่มผู้ไร้ความสามารถ ถูกรังเกียจจากครอบครัวและสังคม ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตแก่เด็กและครอบครัว การบริการสุขภาพที่บ้านเป็นกลวิธีให้บริการเชิงรุกที่สำคัญที่จะช่วยลดความวิกกังวล ช่วยพัฒนาและส่งเสริมให้เด็กสามารถช่วยเหลือตนเองและพัฒนาให้ครอบครัวมีทักษะในการดูแลเด็ก ป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ลดภาระของครอบครัวและสังคม วัตถุประสงค์ เพื่อ 1. ให้เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าในชุมชนได้รับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องผสมผสานให้สามารถดูแลตนเองได้ในระดับที่เป็นไปได้ตามสภาพแวดล้อม 2. ประคับประคองสุขภาพจิตของผู้ดูแลและครอบครัว 3. ให้ผู้ดูแลและครอบครัวสามารถกระตุ้นพัฒนาการเด็กให้สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ วิธีการ ขั้นเตรียมการ จัดตั้งคณะทำงานเพื่อวางแผนปฏิบัติงาน จัดทำแฟ้มครอบครัว คู่มือครอบครัว สมุดสุขภาพ จัดทีมสุขภาพ คือ แพทย์ พยาบาล นักอรรถบำบัดนักกายภาพบำบัด นักอาชีวบำบัด และนักจิตวิทยา ขั้นดำเนินการ ให้บริการสุขภาพที่บ้านทั้งการรักษาพยาบาล ป้องกันควบคุม ส่งเสริมสุขภาพและฟื้นฟูสมรรถภาพ ทดสอบ IQ ทดสอบการได้ยิน การฝึกพูด จัดหาอุปกรณ์ช่วยลดความพิการ จัดอบรมฝึกปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ อสม. ผู้ดูแลและเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า ให้การปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่ครอบครัว การจัดระบบส่งต่อและส่งเด็กเข้าโรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา ขั้นติดตามผล ติดตามความก้าวหน้าพัฒนาการของเด็ก สรุปปัญหาอุปสรรค แนวทางแก้ไข ผลที่ได้ ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 7 ปี จัดอบรมและฝึกปฏิบัติ 5 ครั้ง เยี่ยมเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า 13 คน / 220 ครั้ง ทดสอบ IQ 10 คน เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น 8 คน พึ่งตนเองในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน 10 คน เข้าโรงเรียนพิเศษ 3 คน หยุดเรียน 1 คน เสียชีวิต 1 คน มีเด็กที่รับการฝึกอบรมต่อเนื่อง 8 คน ให้การปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่ครอบครัว 220 ครั้ง เด็กและครอบครัวมีความพึงพอใจมาก สรุปและข้อเสนอแนะ การบริการสุขภาพที่บ้านเป็นการบริการเชิงรุกที่ฝึกให้ครอบครัวมีทักษะในการดูแลเด็กให้พึ่งตนเอง การได้รับการเอาใจใส่จากทีมสุขภาพและ อสม.โดยมีการสร้างเครือข่ายทางสังคมอย่างครบวงจร จะช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้เด็กและครอบครัว ส่งผลให้เด็กดำเนินชีวิตไปได้อย่างมั่นคงและเติบโตขึ้นอย่างผู้ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม

Keywords: เด็กพัฒนาการช้า, เด็ก, บริการสุขภาพจิต, สุขภาพจิต, ครอบครัว, child, children, mental health service

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: งานเวชกรรมสังคมโรงพยาบาลหาดใหญ่ สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201430006257

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข

Download: -