ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ผการัตน์ ถาวรวงศ์ และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนามาตรฐานการพยาบาลงานบริการผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลจิตเวช

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

บทนำ/วัตถุประสงค์ ด้วยกรมสุขภาพจิตได้กำหนดให้มีการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยนอก และระบบบริการผู้ป่วยในให้ได้มาตรฐาน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่มีคุณภาพ มีความพึงพอใจและประทับใจต่อระบบบริการของโรงพยาบาลจิตเวชวัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อพัฒนามาตรฐานการพยาบาลงานบริการผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลจิตเวช วิธีการ จัดทำมาตรฐาน โดยการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการขอคำปรึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้รับการตรวจสอบความตรงของเนื้อหาตามเทคนิคเดลฟาย (Delphi Technique) จำนวน 5 รอบ จากผู้ทรงคุณวุฒิทางการพยาบาลจิตเวชโดยเฉพาะ จำนวน 23 ท่าน สถิติที่ใช้คือ ค่ามัธยฐานและค่าการกระจายควอไทล์ และมีการนำไปทดลองปฏิบัติในงานบริการผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลจิตเวช จำนวน 4 แห่ง ผลการวิจัย พบว่า ร้อยละ 92.50 ขึ้นไป สามารถปฏิบัติตามร่างมาตรฐานการพยาบาลงานบริการผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลจิตเวชทั้ง 8 มาตรฐาน และเกิดผลลัพธ์ตามที่กำหนดไว้ร้อยละ 85.00 ขึ้นไป จึงได้มาตรฐาน จำนวน 8 มาตรฐาน โดยมีมาตรฐานเชิงกระบวนการ 55 ข้อ และมาตรฐานเชิงผลลัพธ์ 25 ข้อ มาตรฐานที่ 1 ผู้ใช้บริการได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นได้รับความสะดวกในการหาห้องตรวจและเข้ารับการตรวจรักษา มาตรฐานที่ 2 ผู้ป่วยได้รับการเคลื่อนย้ายที่ถูกต้องและปลอดภัย มาตรฐานที่ 3 ผู้ป่วยได้รับการคัดกรองและประเมินสภาพการเจ็บป่วยอย่างถูกต้อง มาตรฐานที่ 4 ผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉิน ได้รับการพยาบาลเบื้องต้นขณะรอตรวจ มาตรฐานที่ 5 ผู้ใช้บริการได้รับบริการเสริมเพื่อผ่อนคลายความวิตกกังวลให้อยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำ ขณะรอแพทย์ตรวจ มาตรฐานที่ 6 ผู้ป่วยได้รับการตรวจตามสภาวะการเจ็บป่วยและมีความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการตรวจรักษา มาตรฐานที่ 7 ผู้ป่วยและญาติ เข้าใจเกี่ยวกับสภาพการเจ็บป่วยและให้ความร่วมมือในการอยู่รักษาในโรงพยาบาล มาตรฐานที่ 8 ญาติมีความรู้ที่จะช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยมีความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเอง สรุปและข้อเสนอแนะ การพัฒนามาตรฐานการพยาบาลงานบริการผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลจิตเวช ครั้งนี้ต้องอาศัยการแสดงความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 รอบ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวอาจทำให้ผู้ทรงคุณวุฒิเกิดความเบื่อหน่ายในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องเดิมหลายรอบ ดังนั้นการประสานงานที่ต่อเนื่องและความมุ่งมั่นในการดำเนินงานอย่างสูงสุดของผู้วิจัย จึงทำให้ได้ความร่วมมืออย่างเต็มใจจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผลที่ได้จึงเป็นตัวแทนความคิดเห็นของกลุ่มที่มีต่อร่างมาตรฐานการพยาบาล ฯ อย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับความน่าเชื่อถือของข้อมูลตามเทคนิคเดลฟาย โดยขึ้นกับความสามารถและความรอบรู้อย่างแท้จริงของผู้ทรงคุณวุฒิ ตั้งแต่ 17 คนขึ้นไป และทุกข้อของร่างมาตรฐานมีค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ไม่เกิน 1.50 และความเที่ยงตรงของเนื้อหามีค่ามัธยฐานตั้งแต่ 10.00 ขึ้น จึงอาจสรุปได้ว่า ความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 23 ท่าน มีความเห็นด้วยกับข้อความในมาตรฐานที่พัฒนาขึ้นค่อนข้างสูง และจากการนำมาตรฐานการพยาบาลฯ ไปทดลองปฏิบัติในโรงพยาบาลจิตเวช จำนวน 4 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 92.50 ขึ้นไป สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานที่พัฒนาขึ้นได้ และเกิดผลลัพธ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน ร้อยละ 85.00 ขึ้นไป แสดงว่ามาตรฐานที่พัฒนาขึ้นสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้ในสถานการณ์จริง มาตรฐานการพยาบาลฯ ที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ สามารถนำไปเป็นแนวทางในการพยาบาลงานบริการผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลจิตเวชได้ แต่ควรมีการติดตามผลการใช้ เพื่อพัฒนาปรับปรุงมาตรฐานการพยาบาลให้เหมาะสมกับหน่วยงานและทันกับวิทยาการที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการต่อไป

Keywords: มาตรฐานการพยาบาลผู้ป่วยนอก, มาตรฐาน, การพยาบาลจิตเวช, กิจกรรมพยาบาล, ผู้ป่วยจิตเวช, ปัญหาสุขภาพจิต, ปัญหาทางจิตเวช, บริการ, OPD, service, psychiatric nursing

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201430006259

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -