ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ไพรวัลย์ ร่มซ้าย และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การประเมินผลโครงการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคจิตในชุมชนแบบครบวงจร อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ ได้เริ่มจัดโครงการนี้ที่อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการ พัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคจิตในชุมชน ให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ และทัศนคติที่ดีต่อการดูแลผู้ป่วยโรคจิตที่บ้าน สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติจริงเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องโดยอาศัยศักยภาพของเครือข่ายในชุมชน อสม. และญาติ ลดอัตราการกลับมารักษาซ้ำ ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในชุมชนได้อย่างเหมาะสม โดย ไม่ถูกล่ามขัง วิธีการ โดยการจัดอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จำนวน 22 คน อสม. และญาติ 101 คนจำนวน 3 รุ่น ๆ ละ 1 วัน ในวันที่ 26.28 เมษายน 2543 หลังจากนั้นให้ผู้เข้าอบรมนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติจริงในชุมชน และประเมินผลในภาพรวมด้วย จากนั้นนำข้อมูลที่ได้รับมาแจกแจงความถี่ร้อยละ และใช้สถิติ T-Test เพื่อทดสอบความรู้เปรียบเทียบก่อนและหลังการอบรม ผลที่ได้ ผลการจัดอบรมพบว่าทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. และญาติมีความรู้ก่อนและหลังการอบรมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P:0.000)การประเมินผลในภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก สำหรับผลการปฏิบัติงานหลังการอบรมไปแล้ว 3.6 เดือน พบว่าผู้เข้ารับการอบรมได้นำความรู้ไปปฏิบัติได้จริงเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคจิต จำนวน 66 คน ไม่มีอัตราการกลับมารักษาซ้ำ เปรียบเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งมีอัตราการกลับมารักษาซ้ำ จำนวน 4 คน แต่อัตราการล่ามขังมีการลดลงเพียงเล็กน้อย กล่าวคือ มีผู้ป่วยล่ามขังในเขตอำเภอวาริชภูมิ มีทั้งหมด 9 คน ได้รับการรักษาอาการดีขึ้นสามารถอยู่บ้านได้ไม่ถูกล่ามขัง 1 คน กำลังรับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น 2 คน ญาติไม่สมัครใจนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 6 คน สรุปและข้อเสนอแนะ ผลสัมฤทธิ์ในการจัดโครงการในภาพรวมอยู่ในระดับที่ดีมาก ถึงแม้ว่าผลสัมฤทธิ์ในการลดอัตราการกลับมารักษาซ้ำ หรือลดอัตราการล่ามขังจะไม่มีความเด่นชัดในเชิงสถิติ แต่ถ้ามีการพัฒนารูปแบบการดูแลที่ต่อเนื่อง ชุมชนให้ความสำคัญในการดูแล ผู้ป่วยโรคจิตขณะอยู่บ้าน คาดว่าผลสัมฤทธิ์ต่อไปในอนาคตจะดีขึ้นอย่างเป็นที่พอใจอย่างแน่นอนเนื่องจากปัญหาในการดูแลผู้ป่วยในชุมชน จนบางครั้งเกิดมีการล่ามขังเกิดขึ้น เป็นปัญหาที่ซับซ้อนมากต้องใช้เวลาในการแก้ไข และควรมีการขยายผลในการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกอำเภอในจังหวัดสกลนคร แต่ทั้งนี้ควรมีการจัดตั้งคลินิคจิตเวชที่เป็นรูปธรรมแยกออกจากฝ่ายกาย เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติมีความสะดวกในการติดต่อขอรับบริการ การขอความร่วมมือจากองค์กรอื่น ๆ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยในชุมชนก็มีความจำเป็น เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างสูงสุด

Keywords: จิตเวชชุมชน, ผู้ป่วยโรคจิต, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ชุมชน, psychosis, community psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201430006260

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -