ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: บุคลากรคลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุ่น

ชื่อเรื่อง/Title: ความชุกและปัจจัยด้านสังคมจิตใจของภาวะซึมเศร้า ในนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเขตอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2546

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546. หน้า 204. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

องค์การอนามัยโลกทำนายว่า ค.ศ. 2020 ผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับ 3 ของโลก สถิติของกองระบาดวิทยาสำนักงานปลัดประทรวงสาธารณสุข ปี 2541 พบว่า ผู้บาดเจ็บจากการทำร้ายตนเอง โดยตั้งใจ กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 15-29 ปี อาชีพที่พบมากที่สุด คือ อาชีพผู้ใช้แรงงาน รองลงมาคือ อาชีพ นักเรียน/นักศึกษา ยกเว้นโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และโรงพยาบาลศูนย์ยะลา ที่พบในอาชีพ นักเรียน /นักศึกษาสูงสุด ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี พบผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีอัตราส่วนต่อประชากร 100,000 คน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542-2545 ดังนี้ 176.55, 181.85 และ 633.02 วัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาความชุกของภาวะซึมเศร้าในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในเขตอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี 2. เพื่อศึกษาปัจจัยด้านสังคม จิตใจ ที่มีผลต่อภาวะซึมเศร้าของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในเขตอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี สรุปผลการวิจัย กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาส่วนมากเป็นเพศหญิงร้อยละ 60.7 อายุระหว่าง 14-17 ปี ร้อยละ 73.7 ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ร้อยละ 32.8 มัธยมศึกษาปีที่ 5 ร้อยละ 31.5 มัธยมศึกษาปีที่ 6 ร้อยละ 35.7 มีผลการเรียนอยู่ในระหว่าง 2.01-3.00 ร้อยละ 54.9 ภายในครอบครัวมีจำนวน สมาชิก 1-3 คน ร้อยละ 72.7 ส่วนมากเป็นบุตรคนที่ 1 ร้อยละ 42.2 ได้รับค่าใช้จ่ายส่วนตัว 501-1,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 43.2 ค่าใช้จ่ายที่ได้รับส่วนมากเพียงพอร้อยละ 85.1 ผลการศึกษาข้อมูลด้านสังคมจิตใจ พบว่า ส่วนมากนักเรียนอาศัยอยู่กับบิดามารดา ร้อยละ 76.0 ไม่มีโรคประจำตัว ร้อยละ 88.0 นักเรียนมีปัญหาไม่สบายใจ ร้อยละ 67.2 ปัญหาที่ทำให้นักเรียนไม่สบายใจอันดับที่ 1 คือปัญหาการเรียน ร้อยละ 39.3 เมื่อมีปัญหานักเรียนจะพูดคุยหรือปรึกษา ร้อยละ 96.8 บุคคลที่นักเรียนขอคำปรึกษามากที่สุดคือ มารดา ร้อยละ 36.7 อันดับ 2 คือเพื่อน ร้อยละ 33.1 อันดับ 3 คือ บิดา ร้อยละ 21.4 อันดับ 4 คือ บุคคลอื่นๆ เช่น พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ญาติ บุคคลที่นับถือ อันดับสุดท้ายคือ ครู ร้อยละ 1.9 การอบรมเลี้ยงดูในครอบครัว ส่วนมากเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย ร้อยละ 60.4 นอกนั้นจะเป็นการเลี้ยงดูในทางตรงกันข้าม โดยเฉพาะการเลี้ยงดูแบบไม่แน่นอนแล้วแต่อารมณ์มีมากถึงร้อยละ 21.1 สถานภาพสมรสของบิดามารดาในครอบครัวอยู่ด้วยกัน ร้อยละ 78.6 หม้ายและหย่าร้างรวมกันมีถึง ร้อยละ 20.2 ผลการศึกษาภาวะสุขภาพโดยใช้แบบประเมินปัญหาสุขภาพจิตตอบด้วยตนเอง พบว่า นักเรียนที่ไม่มีภาวะซึมเศร้ามีร้อยละ 95.5 นักเรียนที่มีภาวะซึมเศร้า ระยะแรกมีร้อยละ 3.6 นักเรียนที่มีภาวะซึมเศร้ารุนแรงมีร้อยละ 1.0 จากผลการศึกษาภาวะสุขภาพจากกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว ได้อัตราความชุกของนักเรียนมัธยมปลายสายสามัญในเขตอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี = 4.54 ผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะประชากรทั่วไป ปัจจัยด้านสังคมจิตใจกับภาวะซึมเศร้า พบว่าลักษณะประชากรทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับผลการเรียน มีความสัมพันธ์ตรงกันข้ามกับภาวะซึมเศร้าในระดับต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ = .05 (r = -.116) ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านสังคมจิตใจที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ทำให้นักเรียนไม่สบายใจและปัจจัยที่ทำให้มีความรู้สึกสูญเสียหรือเสียใจ มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับปัญหาสุขภาพด้านภาวะซึมเศร้าในระดับต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ = .05 (r = .194-.247) ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านสังคมจิตใจที่เกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้นกัเรียนภาคภูมิใจตนเอง มีความสัมพันธ์ตรงกันข้ามกับปัญหาสุขภาพด้านภาวะซึมเศร้าในระดับต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = -.138) ข้อเสนอแนะ นำผลการวิจัยเสนอผู้บริหารของโรงเรียนเพื่อวางแผนการทำงานร่วมกันในเรื่องของการขอคำปรึกษาของนักเรียน นักเรียนจะใช้บริการปรึกษาจากครูเป็นอันดับสุดท้าย และมีเพียงร้อยละ 1.9 เท่านั้นที่จะขอคำปรึกษาจากครู

Keywords: โรคซึมเศร้า, ภาวะซึมเศร้า, นักเรียน, วัยรุ่น, ปัญหาสุขภาพจิต, ปัญหาทางจิตเวช, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ความชุก, ระบาดวิทยา, เศร้า

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กรมสุขภาพจิต

Code: 00000092

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -