ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุนทรี ศรีโกไสย และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลเครือข่ายสุขภาพจิตและจิตเวชของโรงพยาบาลสวนปรุง

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

บทนำ / วัตถุประสงค์ สืบเนื่องจากนโยบายพัฒนางานสุขภาพจิตของกรมสุขภาพจิต โดยให้มีเครือข่ายสุขภาพจิตและจิตเวช เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนได้รับบริการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสังคมเศรษฐกิจในปัจจุบัน โรงพยาบาลสวนปรุงจึงดำเนินงานพัฒนาโรงพยาบาลเครือข่ายสุขภาพจิตและจิตเวชขึ้นในปีงบประมาณ 2542 โดยเริ่มที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล ต่อการมารับบริการ ณ โรงพยาบาลสวนปรุงและสถิติของผู้ป่วยที่มารับบริการ ณ โรงพยาบาลสวนปรุง ของอำเภอแม่สะเรียงและอำเภอฝาง มีจำนวนค่อนข้างสูง เฉลี่ย 300 ราย / ปี และ 1,000 ราย / ปี ตามลำดับ (สถิติผู้ป่วยโรงพยาบาลสวนปรุง ปีงบประมาณ 2539-2541) วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลเครือข่ายสุขภาพจิตและจิตเวชของโรงพยาบาลสวนปรุง วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาแบบวิจัยประเมินผล โดยการประเมินปัจจัยการจัดการโรงพยาบาลเครือข่าย ประเมินกระบวนการดำเนินงานและประเมินผลผลิต ประชากรเป็นผู้บริหารหรือหัวหน้างาน ผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิต อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ป่วยและญาติในโรงพยาบาลแม่สะเรียงและโรงพยาบาลฝาง สถิติที่ใช้คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และ Pearson Correlation ผลการศึกษา พบว่าโรงพยาบาลฝาง มีปัจจัยในการจัดการด้านการให้บริการสุขภาพจิตและจิตเวชของโรงพยาบาลเครือข่าย ได้แก่ ความพร้อมของบุคลากรในการดำเนินงาน สื่อ อุปกรณ์ประกอบการดำเนินงานเพื่อความสะดวกในการให้บริการและมีคุณภาพ ความเพียงพอด้านวัสดุ ครุภัณฑ์สำหรับจัดกิจกรรมให้ความรู้ รวมทั้งความเหมาะสมของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากหน่วยงาน อยู่ในระดับน้อยทุกด้านที่กล่าว คิดเป็นร้อยละ 21-40 (ค่าเฉลี่ย = 2.9 , 2.64 , 1.90 และ 2.50 ตามลำดับ) มีการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ในกระบวนการดำเนินงานของโรงพยาบาลเครือข่ายอยู่ในระดับน้อยทุกด้าน คิดเป็นร้อยละ 21-40 (ค่าเฉลี่ย=2.52)ส่วนผลของการให้บริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชซึ่งประเมินโดย อสม.และผู้ใหญ่บ้านพบว่า ในด้านการประสานงาน การให้บริการในโรงพยาบาลและในชุมชน การประเมินผล การนิเทศ การพัฒนาบุคลากร การแสวงหางบประมาณและอื่น ๆ ได้ผลในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 41-60 (ค่าเฉลี่ย =3.17) ส่วนโรงพยาบาลแม่สะเรียง มีปัจจัยในการจัดการโรงพยาบาลเครือข่าย ด้านความพร้อมของบุคลากรในการดำเนินงานอยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 41.60 (ค่าเฉลี่ย=3.10) ด้านความพร้อมของสื่ออุปกรณ์ประกอบการดำเนินงานเพื่อความสะดวกในการให้บริการและมีคุณภาพ ความเพียงพอด้านวัสดุ ครุภัณฑ์ สำหรับจัดกิจกรรมให้ความรู้รวมทั้งความเหมาะสมของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากหน่วยงานอยู่ในระดับน้อยทุกด้านที่กล่าว คิดเป็นร้อยละ 41-60 (ค่าเฉลี่ย=2.63,2.54,2.66, และ 2.82 ตามลำดับ) มีการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ในกระบวนการดำเนินงานของโรงพยาบาลเครือข่าย อยู่ในระดับน้อยทุกด้าน คิดเป็นร้อยละ 21-40 (ค่าเฉลี่ย=2.64) ส่วนผลของการให้บริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ซึ่งประเมินโดย อสม. และผู้ใหญ่บ้านพบว่าในด้านการประสานงาน การให้บริการในโรงพยาบาลและในชุมชน การประเมินผล การนิเทศการพัฒนาบุคลากร การแสวงหางบประมาณและอื่น ๆ ได้ผลในระดับน้อย คิดเป็นร้อยละ 21-40 (ค่าเฉลี่ย=2.91) ความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติในการมารับบริการทั้งสองโรงพยาบาลพบว่าด้านความสะดวกในการมารับบริการ ความพึงพอใจต่อบริการของเจ้าหน้าที่ ผลการรักษาของแพทย์และความพอใจต่อบริการปรึกษาของเจ้าหน้าที่ อยู่ในระดับปานกลางถึงมากทุกด้าน คิดเป็นร้อยละ 30.61 – 59.18 ส่วนด้านค่ารักษาพยาบาลมีความเหมาะสมอยู่ระดับปานกลางคิดเป็นร้อยละ 73.47 และยังพบว่าการดำเนินงานเครือข่ายด้านสุขภาพจิตและจิตเวชของโรงพยาบาลฝางและแม่สะเรียงมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.01 สรุปและข้อเสนอแนะ ผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลเครือข่ายสุขภาพจิตและจิตเวชของโรงพยาบาลสวนปรุงครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าทั้งปัจจัยการจัดการ และผลผลิตของการดำเนินงานส่วนใหญ่อยู่ในระดับน้อยถึงปานกลางและปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ในกระบวนการดำเนินงาน อยู่ในระดับน้อยทั้งสองแห่ง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการดำเนินงานสุขภาพจิตและจิตเวชของโรงพยาบาลเครือข่ายทั้งสองแห่งยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา โดยมีการดำเนินการได้เพียง 1-2 ปี จึงอาจมีความพร้อมในการดำเนินงานที่ยังไม่ครอบคลุมในหลาย ๆด้าน ทั้งนี้อาจเกิดจากปัจจัยทางบุคลากร ที่ต้องรับภาระหน้าที่หลายด้านนอกเหนือจากงานสุขภาพจิต ทำให้ไม่มีเวลาทำงานด้านสุขภาพจิตอย่างเต็มที่ บุคลากรขาดประสบการณ์และความชำนาญในการปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตโดยผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิตของโรงพยาบาลแม่สะเรียงและโรงพยาบาลฝางยังไม่ผ่านการอบรมหลักสูตรเฉพาะทางการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช การขาดผู้นิเทศหรือผู้ให้การปรึกษาในพื้นที่และจากโรงพยาบาลแม่ข่ายอย่างเป็นรูปธรรมรวมถึงการสนับสนุนของผู้บริหารทุกระดับอย่างจริงจัง ส่วนด้านผลผลิตของการดำเนินงานที่ประเมินโดย อสม.และผู้ใหญ่บ้าน ทั้งสองพื้นที่ต่างมีผลการดำเนินงานตรงกันในเรื่องบุคลากรในโรงพยาบาลสามารถวิเคราะห์ปัญหาความต้องการ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการ พัฒนางานบริการสุขภาพจิตและจิตเวช มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและผู้ป่วยและญาติมีความพึงพอใจต่อการมารับบริการ ในระดับปานกลางทุกด้าน ซึ่งสอดคล้องกับความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติในการมารับบริการที่อยู่ในระดับปานกลางถึงมาก แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการปฏิบัติงานสุขภาพจิตและจิตเวชของผู้รับผิดชอบแม้ว่าจะมีเวลาและบุคลากรจำนวนน้อยก็ตาม นอกจากนี้การมารับบริการในโรงพยาบาลใกล้บ้านมีผลดีต่อผู้ป่วยและญาติในเรื่องความสะดวกในการเดินทาง การประหยัดเรื่องค่าใช้จ่ายในการมารับบริการ และผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งควรให้การสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลแม่ข่ายอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนและร่วมกับโรงพยาบาลเครือข่ายในการกำหนดรูปแบบการดำเนินงานอย่างชัดเจน สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ การให้โอกาสพิจารณาความดีความชอบของผู้รับผิดชอบในงาน การปรับปรุงบทบาทของผู้นิเทศและควรมีการประเมินผลเป็นระยะ ๆ

Keywords: จิตเวชชุมชน, เครือข่าย, เครือข่ายสุขภาพจิตและจิตเวช, network, community psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201430006268

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -