ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กรวสา คงขวัญ

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการดำเนินโครงการการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาแก่ผู้ป่วยมะเร็งรายกลุ่ม

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

ความเจ็บป่วย เป็นปรากฎการณ์อย่างหนึ่งของชีวิตและเป็นภาวะเครียดที่รุนแรงซึ่งต้องการปรับตัวอย่างมากโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพราะมะเร็งนอกจากจะก่อให้เกิดความไม่สุขสบายด้านร่างกาย จิตใจ ความผันผวนทางอารมณ์แก่ตัวผู้ป่วยแล้ว ยังคุกคามจิตใจและอารมณ์ของบุคคลในครอบครัวและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้ป่วยอีกด้วย การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาแก่ผู้ป่วยมะเร็งและญาติ เพื่อให้ปรับตัวในสภาวะที่เจ็บป่วย และส่งเสริมกำลังใจให้ผู้ป่วยและญาติเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ซึ่งสเตย์ ยอร์น (Strayhorn 1982 : 465) กล่าวว่า พยาบาลเป็นบุคลากรที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากที่สุด สามารถให้การช่วยเหลือในการลดภาวะเครียด และส่งเสริมความร่วมมือในการเข้ารับการรักษาตามแผนการรักษา กลุ่มงานการพยาบาล ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง จังหวัดอุบลราชธานีเล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงได้จัดทำโครงการการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาแก่ผู้ป่วยมะเร็งรายกลุ่มขึ้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยและญาติ ในการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้มีการใช้กลไกในการปรับตัวที่เหมาะสมสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพของโรคที่เกิดขึ้น และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ วัตถุประสงค์ 1. เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันการเกิดปัญหาทางจิตแก่ผู้ป่วยมะเร็ง 2. เพื่อส่งเสริมการปรับตัวของผู้ป่วยและบุคลลที่มีความสำคัญกับผู้ป่วยให้เข้าใจกลวิธีในการเผชิญปัญหาที่เหมาะสม 3. เพื่อพัฒนาแนวทางการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาแก่ผู้ป่วยมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ วิธีการ เป็นวิธีการ ดำเนินการโดยใช้กระบวนการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม โดยมีผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิด ต่าง ๆ ที่พักรักษาตัวในศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง จังหวัดอุบลราชธานี ญาติ พยาบาลและนักสังคมสงเคราะห์เข้าร่วมกลุ่ม เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ ตุลาคม 2542 ถึง มิถุนายน 2543 มีผู้เข้าร่วมกลุ่มเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งและญาติจำนวน 115 ราย ดำเนินการกลุ่ม 17 ครั้ง จำนวนผู้เข้าร่วมกลุ่ม 8 คน / ครั้ง ใช้ระยะเวลาดำเนินกลุ่มครั้งละ 45 นาที – 1 ชั่วโมง กระบวนการก่อนปิดกลุ่มมีการประเมินผลแบบอภิปราย และหลังปิดกลุ่มประเมินผลโดยใช้แบบสอบถาม (ดังเอกสารแนบท้าย) ประเมินผลโครงการ ด้านสถานที่ที่ให้บริการปรึกษา ทำให้ผู้ร่วมกลุ่มรู้สึกมั่นใจมากร้อยละ 83.78 ปานกลาง ร้อยละ 8.1 ประเมินได้ว่าการจัดสถานที่อาจต้องปรับปรุงบางส่วน หรือผู้ร่วมกลุ่มบางรายยังไม่คุ้นเคยกับสถานที่ ด้านผู้ให้คำปรึกษามีท่าทีเป็นมิตรกับผู้ร่วมกลุ่ม ร้อยละ 91.89 ซึ่งประเมินได้ว่าผู้เข้าร่วมกลุ่มมีความรู้สึกและทัศนคติที่ดีกับเจ้าหน้าที่ด้านการสามารถรักษาความลับมากร้อยละ 89.19 และปานกลางร้อยละ 5.4 อาจประเมินได้ว่าผู้เข้าร่วมกลุ่มบางรายยังไม่มั่นใจผู้ให้คำปรึกษา ซึ่งต้องสร้างความสัมพันธภาพต่อไป ด้านผู้ให้บริการมีความตั้งใจ / สนใจรับฟังปัญหามากร้อยละ 86.48 ปานกลางร้อยละ 5.4 น้อยร้อยละ 2.7 อาจเกิดจากมีผู้เข้าร่วมกลุ่มครั้งละหลายคน ปัญหาของผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการพูดถึงน้อยอาจต้องเพิ่มทักษะของผู้นำกลุ่ม ด้านเวลาที่ใช้ในการทำกลุ่มมีความเหมาะสมมากร้อยละ 67.56 ปานกลางร้อยละ 18.91 น้อยร้อยละ 8.1 ซึ่งอาจประเมินได้ว่าผู้ร่วมกลุ่มบางรายกังวลเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวัน เช่น การรับการพยาบาล การพักผ่อน เป็นต้น รวมทั้งอาจประเมินได้ว่ามีประเด็นปัญหาที่ได้จากการดำเนินกลุ่มหลายประการ ทำให้ใช้เวลาในการสรุป และปิดกลุ่มล่าช้า ด้านการผู้ให้คำปรึกษาช่วยให้ผู้ร่วมกลุ่มเข้าใจปัญหาและมองเห็นสาเหตุ / แนวทางแก้ไขปัญหามีร้อย 83.78 ปานกลางร้อยละ 5.4 ซึ่งต้องนำประเด็นปัญหาที่สำคัญ จากการดำเนินการกลุ่มปรึกษาบุคลากรที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เพื่อนำไปพัฒนาการให้คำปรึกษาในครั้งต่อไปและหัวข้อสุดท้ายในการประเมินคือการเข้าร่วมกิจกรรมช่วยลดความวิตกกังวลได้มากร้อยละ 81.08 ปานกลางร้อยละ 13.51 ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีควรนำมาวางแผนพัฒนางานให้คำปรึกษาสำหรับผู้ป่วยต่อไป วิจารณ์และสรุป จากการประเมินผู้รับบริการให้คำปรึกษามีความพอใจและต้องการให้จัดบริการอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 83.78 และการเข้าร่วมกิจกรรมช่วยลดความวิตกกังวลได้ ร้อยละ 81.08 จึงน่าจะเป็นกิจกรรมที่ควรนำมาพัฒนาและปรับปรุงเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพทางการพยาบาลอันจะส่งผลถึงคุณภาพและมาตรฐานของการปฏิบัติการพยาบาลทางหนึ่งด้วย

Keywords: ปรึกษาทางจิตวิทยา, ผู้ป่วยมะเร็ง, การให้คำปรึกษา, กิจกรรมพยาบาล, พยาบาล, การพยาบาลจิตเวช, ภาวะเครียด, เครียด, counseling, counselling, stress, psychiatric nursing

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง จังหวัดอุบลราชธานี

Code: 201430006276

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -