ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมจิตต์ ลุประสงค์, หยกฟ้า บุญชิต

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาสุขภาพจิตผู้สูงอายุที่มารับบริการในโรงพยาบาลจิตเวชนครพนม

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

ในสภาวะปัจจุบันพบว่าประชากรที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก และผู้สูงอายุถือว่าเป็นบุคคลในระยะสุดท้ายของชีวิตที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในทุก ๆ ด้านทั้งทางด้านร่างกาย จิต ใจ และสังคม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดความเครียดแก่ผู้สูงอายุทุกคน และเป็นความเครียดที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ รวมทั้งปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อระบบของครอบครัว และการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุโดยตรง ดังนั้นการทราบถึงภาวะสุขภาพจิตผู้สูงอายุในภาวะปัจจุบันจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการวางแผนช่วยเหลือ ส่งเสริม และฟื้นฟูให้ผู้สูงอายุได้ดำรงชีวิตอย่างมีความสุขในสังคมปัจจุบัน ผลที่ได้ การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจภาวะสุขภาพจิตผู้สูงอายุที่มารับบริการแบบผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจิตเวชนครพนม กลุ่มตัวอย่าง คือผู้สูงอายุที่มารับบริการ ณ งานบริการผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจิตเวชนครพนม ในเดือนมิถุนายน 2543 จำนวน 319 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบประเมินสุขภาพจิตผู้สูงอายุ กรมสุขภาพจิตจำนวน 30 ข้อ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิง ร้อยละ 53.3 เพศชาย ร้อยละ46.7 ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 60-70 ร้อยละ 82.8 อายุสูงสุด 86 ปี ร้อยละ 0.3 เกือบทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 98.1 การศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 84.6 มีอาชีพทำนาร้อยละ 72.4สถานภาพสมรสแต่งงาน ร้อยละ 84.6 เป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ ร้อยละ 41.7 ส่วนผู้สูงอายุที่มีรายได้ ร้อยละ 58.3 ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้ระหว่าง 2,000-10,000 บาท/ปี คิดเป็นร้อยละ 82.8 ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครพนม ร้อยละ 63.3 รองลงมาคือจังหวัดสกลนคร ร้อยละ 23.5 จากการประเมินสุขภาพจิตผู้สูงอายุ พบว่าผู้สูงอายุที่มารับบริการ ณ โรงพยาบาลจิตเวชนครพนม มีภาวะสุขภาพจิตปกติ ร้อยละ 44.8 และเป็นผู้สูงอายุที่เศร้า ร้อยละ 55.2 ซึ่งจำแนกเป็นผู้สูงอายุที่มีความเศร้าเล็กน้อย ร้อยละ 30.4 ปานกลาง ร้อยละ 22.9 และรุนแรงร้อยละ 1.9 เมื่อพิจารณาแบบประเมินสุขภาพจิตรายข้อ พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีความเห็นด้วยกับข้อคำถามในด้านบวก 5 อันดับแรก ดังนี้คือ การที่มีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบันเป็นเรื่องน่ายินดี (ร้อยละ 92.2) คุณหวังว่าจะมีสิ่งที่ดีเกิดขึ้นในวันหน้า (ร้อยละ 90.3) คุณรู้สึกว่าชีวิตมีเรื่องน่าสนุกอีกมาก (ร้อยละ 81.8) ส่วนใหญ่คุณรู้สึกมีความสุข (ร้อยละ 78.7) คุณพอใจกับชีวิตความเป็นอยู่ในตอนนี้ (ร้อยละ 76.8) ส่วนความคิดเห็นในด้าน ลบใน 5 อันดับแรกมีดังนี้ บ่อยครั้งที่คุณรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับชีวิตข้างหน้า (ร้อยละ 70.2) คุณอารมณ์เสียง่ายกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่เสมอ (ร้อยละ 67.4) คุณมีเรื่องกังวลอยู่ตลอดเวลา และเลิกคิดไม่ได้ (ร้อยละ 67.1) คุณรู้สึกเบื่อหน่ายบ่อย ๆ (ร้อยละ 66.5) คุณรู้สึกกลัวว่าจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นกับคุณ (ร้อยละ 63.6) คุณรู้สึกกังวลมากกับชีวิตที่ผ่านมา (ร้อยละ 63.6)

Keywords: ผู้สูงอายุ, geriatric

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครพนม กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201430006288

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -