ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สนาม บินชัย

ชื่อเรื่อง/Title: ความเครียดของนักเรียน โรงเรียนสตรีนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิขัยเชิงสำรวจ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเครียด ความแตกต่างของสาเหตุกับความเครียด และการปฏิบัติตนเมื่อเกิดความเครียดของนักเรียนโรงเรียนสตรีนครสวรรค์ กลุ่มเป้าหมายได้แก่ โรงเรียนสตรีนครสวรรค์ โดยตั้งสมมติฐานว่าลักษณะของประชากรต่างกันทำให้ความเครียดต่างกัน และความเครียดต่างกันทำให้การปฏิบัติตนของนักเรียนต่างกัน การสุ่มตัวอย่างแบบ Multistage Random Sampling (เลือกแบบเจาะจง โดยเลือกโรงเรียนสตรีนครสวรรค์ เขตการศึกษาที่ 7 จังหวัด นครสวรรค์ สุ่มแบบง่ายได้ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และสุ่มแบบง่าย ตามบัญชีรายชื่อของนักเรียนในแต่ละห้อง ) ได้ขนาดของตัวอย่างจำนวน 580 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย แบบสัมภาษณ์ที่สร้างและพัฒนาขึ้น โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยผู้วิจัย อาจารย์แนะแนว และอาจารย์ประจำชั้น การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรม SPSS for Windows สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ค่าร้อยละ T-Test และ F-Test กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง สามในสี่เป็นเพศหญิง ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 14-15 ปี อายุต่ำสุด 13 ปี อายุสูงสุด 16 ปี มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นบุตรลำดับแรก จำนวนพี่น้อง 2 คน เกือบสามในสี่ลักษณะครอบครัวเดี่ยว เกือบครึ่งหนึ่งบิดาอาชีพรับราชการ ส่วนมารดาอาชีพรับจ้าง รายได้ครอบครัวต่อเดือนน้อยกว่าหรือเท่ากับ 12,605 บาท ส่วนใหญ่ฐานะทางเศรษฐกิจปานกลาง มากกว่าครึ่งหนึ่งความสัมพันธ์กับบิดาระดับดี เกือบสามในสี่ความสัมพันธ์กับมารดาระดับดี กิจกรรมพิเศษเป็นกิจกรรมนันทนาการ ส่วนใหญ่ช่วยเหลืองานบ้าน และเกือบครึ่งหนึ่งมีความพอใจผลการเรียนในระดับมาก ความเครียดของนักเรียน มากกว่าครึ่งหนึ่งไม่มีภาวะเครียด ส่วนกลุ่มที่มีภาวะเครียด เกือบสามในสี่มีภาวะเครียดระดับเล็กน้อย เกือบหนึ่งในห้ามีภาวะเครียดระดับปานกลาง และไม่ถึงหนึ่งในสิบมีภาวะเครียดระดับมาก ระดับอาการที่มีภาวะเครียดประจำ ได้แก่ ตื่นเต้นง่ายกับเหตุการณ์ที่ไม่คุ้นเคย อาการไม่มีสมาธิ และหงุดหงิดการปฏิบัติตนเมื่อเกิดความเครียด ส่วนใหญ่ไปพบจิตแพทย์ มากกว่าครึ่งโทรศัพท์ปรึกษาปัญหาและสวดมนต์ไหว้พระ ส่วนการปฏิบัติตนไม่ถูกต้องเมื่อเกิดความเครียด ส่วนใหญ่ทำร้ายตนเอง สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์รับประทานยาระงับประสาท ยานอนหลับ และทำร้ายผู้อื่น การทดสอบสมมติฐาน ลักษณะทางประชากร (เพศ ความสัมพันธ์กับบิดา ความสัมพันธ์กับมารดา) ต่างกัน ทำให้ความเครียดของนักเรียนโรงเรียนสตรีนครสวรรค์ต่างกัน และความเครียดต่างกันทำให้การปฏิบัติตนของนักเรียนโรงเรียนสตรีนครสวรรค์ต่างกัน ส่วนปัจจัย อายุ ลักษณะครอบครัว อาชีพของบิดา อาชีพของมารดา ฐานะทางเศรษฐกิจ ต่างกันทำให้ความเครียดของนักเรียนโรงเรียนสตรีนครสวรรค์ไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

Keywords: เครียด, ความเครียด, stress

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201430006294

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -