ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นงพิมล นิมิตรอานันท์

ชื่อเรื่อง/Title: หย่อนใจคลายเครียด , วิธีบำบัดอาการที่ได้ผลของหญิงไทยวัยทอง

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

บทนำ ภาวะหมดประจำเดือนในสังคมไทยมีการให้ความหมายและคุณค่าที่ต่างจากประเทศในวัฒนธรรมตะวันตก ปัจจุบันมีการศึกษาเรื่องนี้ในหญิงไทยมากขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจสภาพปัญหาทางสุขภาพของประชากรกลุ่มนี้ที่ชัดเจนขึ้น ผลคือทำให้ได้แนวทางการจัดบริการสุขภาพที่เหมาะสมกับบริบทไทย บทความนี้ต้องการนำเสนอข้อค้นพบบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาวะสุขภาพจิตของหญิงไทยวัยหมดประจำเดือนในหน่วยหนึ่ง สังกัดกระทรวงมหาดไทย การวิจัยครั้งนี้ต้องการอธิบายความหมายของการหมดประจำเดือนและอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น รวมทั้งวิธีการบำบัดอาการเหล่านี้ในมุมมองของผู้หญิงเอง โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพแบบ exploratory-descriptive design และ Case studies ทำการเก็บข้อมูลด้วยวิธี Participant observation และ Indepth interviews ในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่ทำงานอยู่ในเขต กทม. เป็นเวลา 6 เดือน ผลการวิจัย - อาการที่พบมากคือ หงุดหงิด (mood swing) ส่วนอาการอื่น ๆ ได้แก่ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก ปวดศรีษะ นอนไม่หลับ ใจหวิว-ใจสั่น จะยิ่งทำให้ผู้ หญิง รู้สึกหงุดหงิดมากขึ้น เหตุการณ์วิกฤตในชีวิตของหญิงวัยกลางคนทำให้มีอาการมากขึ้น ผู้หญิงที่มีอาการรุนแรงจะทำให้การรับรู้สภาวะสุขภาพเลวลง และความผาสุกในชีวิต (well-being) ลดลง - ผู้หญิงเชื่อว่าภาวะหมดประจำเดือนทำให้หมดโอกาสขับเลือดเสียออกจากร่างกายมีความเชื่อว่าเกิดการเสียสมดุลของธาตุเลือดและธาตุลม จึงทำให้ผู้หญิงมีอารมณ์แปรปรวนจนเป็นที่ประจักษ์กันโดยทั่วไป เรียกว่า เลือดจะไป ลมจะมา การนับถือพุทธศาสนาทำให้ผู้หญิงยอมรับสภาพความเสื่อมของสุขภาพว่าเป็น วัฏจักร และเป็นการเสื่อมของสังขารตามวัย - ผู้หญิงมีวิธีการคิดและช่วยเหลือเพื่อบำบัดอาการ มีการลองผิด-ลองถูก เพื่อให้ได้วิธีที่ได้ผล ประหยัดและปลอดภัย วิธีที่นิยมการดูแลสุขภาพแบบธรรมชาติที่ใช้ภูมิปัญญาไทยและการแพทย์แบบผสมผสาน การปฏิบัติธรรม การเตรียมใจและข่มใจ การปรึกษามารดา ญาติผู้ใหญ่และกลุ่มเพื่อนหญิง การทำงานอดิเรก ตลอดจนการดูแลสุขภาพและภาพลักษณ์ของตนเพิ่มขึ้นล้วนเป็นวิธีที่ผู้หญิงใช้บ่อยและได้ผลดีในการลดอาการและทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น ข้อเสนอแนะ ผู้ให้บริการสุขภาพแก่หญิงวัยทองควรเห็นความสำคัญของการให้สุขศึกษาการให้คำปรึกษาในทุกพื้นที่ที่มีประชากรกลุ่มนี้ การส่งเสริมระบบเกื้อหนุนของครอบครัวและกลุ่มเพื่อนหญิงให้มีความเข้มแข็งจะเป็นปัจจัยหลักของการส่งเสริมสุขภาพจิตของหญิงไทยวัยทอง

Keywords: เครียด, ความเครียด, stress, menopause

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก

Code: 201430006298

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -