ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ศรีเรือน แก้วกังวาล

ชื่อเรื่อง/Title: ความฉลาดทางอารมณ์

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

ภาวะที่ตรงกันข้ามกับอารมณ์สับสนแปรปรวน คือ ความฉลาดทางอารมณ์ แนวคิดเรื่องความฉลาดของอารมณ์เป็นแนวคิดสมัยใหม่ ได้รับการกล่าวขวัญมากในวงการศึกษา-จิตวิทยาเด็กพิเศษ-เด็กปกติ-สุขภาพจิต และในวงการธุรกิจ ข้อเขียนส่วนใหญ่ต่อไปนี้เก็บความจากเรื่อง EQ Factor ของ Nancy Gibbs (1995) และ Emotion Intelligence ของ Daniel Goleman (1996) ประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ได้มีการศึกษาอิทธิพลของอารมณ์ที่มีต่อการดำเนินชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ เช่น สุขภาพจิต สติปัญญา ความคิด และพฤติกรรมทางสังคม มีประเด็นที่นักจิตวิทยาสนใจศึกษาเฉพาะเจาะจงประเด็นหนึ่ง คือ ความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) การศึกษาเรื่องนี้ทำให้มีผลสรุปข้อหนึ่งว่า “อารมณ์เป็นตัวบ่งชี้สติปัญญาและความสำเร็จในชีวิตของบุคคลยิ่งกว่า IQ” (Gibbs, 1995) จึงทำให้มีผู้ทำการศึกษาเรื่องความฉลาดทางอารมณ์มากยิ่งขึ้น จนถึงกับมีการสร้างแบบทดสอบสำหรับวัดคะแนนเรียกว่า EQ ดังจะได้ยกตัวอย่างแบบทดสอบนี้ในตอนต่อไป ความเป็นมา เกือบ 100 ปีมานี้ นักวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญแก่สติปัญญาในแง่ความคิดนึก (cognitive process) การอบรมสั่งสอนเด็กในบ้าน และในสถาบันศึกษามุ่งเน้นความฉลาดด้านนี้ ความฉลาดทางอารมณ์จึงถูกมองข้าม อย่างไรก็ตามนักศึกษาและนักวิชาการสาขาต่าง ๆ เริ่มสังเกตเห็นจากตัวอย่างกรณีศึกษามากมายที่พบว่า บุคคลที่มีสติปัญญาดีจำนวนหนึ่ง มีผลสำเร็จในการเรียนสูง มี IQ สูงไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพ ในชีวิตสังคมและในชีวิตส่วนตัว อีกทั้งยังมีบุคคลที่มี IQ สูงจำนวนหนึ่งประสบความสำเร็จในอาชีพ มีเกียรติยศชื่อเสียง ที่ป่วยเป็นโรคจิต/ประสาท จิตกายาพาธ ไม่มีความสุขในชีวิต ท่างกลางความสำเร็จและเกียรติยศนั้น จนถึงกับมีคำกล่าวว่า “when smart is dumb” ในทางกลับกันปรากฎว่ามีกลุ่มบุคคลที่มี IQ ปานกลาง กลับประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า หรือ/และมีความสุขในชีวิตมากกว่า แต่ก็มีอีกเหมือนกันที่บุคคลบางคนมีทั้ง IQสูง ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง และมีความสุขในชีวิต นักจิตวิทยาและนักการศึกษาจำนวนหนึ่งจึงเริ่มตั้งคำถามว่า ปัจจัยใดแน่ที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตที่เป็นสุขนอกเหนือจากความเฉลียวฉลาดทางด้านความรู้สติปัญญา และความสำเร็จในการงาน คำตอบหนึ่งที่ได้จากการเฝ้าสังเกตเก็บข้อมูลจากบุคคลจำนวนมาก คือ “”ความฉลาดทางอารมณ์ โดยพบว่าปัจจัยนี้มีความสำคัญร่วมกันกับปัจจัยทางสติปัญญา” (Gibbs, 1995, Goleman, 1994)

Keywords: EQ, ความฉลาดทางอารมณ์, สุขภาพจิต, จิตวิทยา, อารมณ์, mental health, psychology

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: ภาควิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 201430006299

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -