ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กรรณิการ์ หนูสอน

ชื่อเรื่อง/Title: การใช้พลวัตกลุ่มในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในจังหวัดสุโขทัย

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้ มีความมุ่งเน้นเพื่อค้นหาปัจจัยและจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโดยวิธีจำแนกพหุ และทดลองใช้พลวัตกลุ่มในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ กลุ่มตัวอย่างมีจำนวน 239 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ ข้อมูลด้วยการทดสอบแบบ เอฟ (f-test) และการวิเคราะห์การจำแนกพหุ (multiple classification analysis : MCA) โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ โปรแกรม SPSS for windows ผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ รายได้ อาชีพ ในอดีตและอาชีพในปัจจุบัน มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตเป็นอันดับหนึ่ง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value ‹ .01) โดยอาชีพปัจจุบัน อาชีพในอดีต รายได้ มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุตามลำดับ และผู้สูงอายุที่ประกอบอาชีพค้าขายหรืออาชีพอิสระ มีรายได้ 5,000-10,000 บาท/เดือน มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด ปัจจัยด้านสุขภาพ (ระดับความรุนแรงของอาการ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ในผู้สูงอายุ) มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตเป็นอันดับสองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < .01) โดยผู้สูงอายุที่มีระดับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคมน้อย มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด ปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคล เพศ อายุ สถานภาพสมรสและระดับการศึกษา มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเป็นอันดับสาม โดยผู้สูงอายุเพศหญิงมีคุณภาพชีวิตดีกว่าเพศชาย ในด้านอายุพบว่า ผู้สูงอายุที่มีสถานภาพโสดมีคุณภาพชีวิตดีที่สุด ในด้านการศึกษา พบว่า ผู้สูงอายุที่มีการศึกษาชั้นประถมศึกษา มีคุณภาพชีวิตดีที่สุด คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุก่อนใช้พลวัตกลุ่มพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 71 รองลงมาได้แก่ ระดับน้อย ร้อยละ 27.19 และระดับสูงร้อยละ 2.09 หลังใช้พลวัตกลุ่ม พบว่าคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 51.88 รองลงมาได้แก่ระดับสูง ร้อยละ 25.11 และระดับต่ำร้อยละ 23.01 ผลการวิเคราะห์ความแตกต่างระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุก่อนและหลังใช้พลวัตกลุ่ม พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < .001) แสดงว่า พลวัตกลุ่มสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้ เนื่องจากพลวัตกลุ่มเป็นแรงผลักดันภายในกลุ่มที่สามารถนำมาใช้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทัศนคติ อันจะเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ภายในกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Keywords: ปัจจัยและจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: -

Code: 201430008206

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -