ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุพิทยา สังฆะพิลา, ยุทธนี เพ็ญสุวรรณ

ชื่อเรื่อง/Title: ทัศนคติและการดูแลผู้ป่วยโรคจิตในจังหวัดร้อยเอ็ด ปี 2540

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2540 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive Study) มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทราบว่าการดูแลผู้ป่วยโรคจิต และทัศนคติของผู้ดูแลต่อการพยาบาลผู้ป่วยโรคจิตอยู่ในระดับใด ประชากรเป้าหมายคือผู้ดูแลผู้ป่วยโรคจิตทุกคนในจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวนทั้งหมด 1,762 คน สุ่มสัมภาษณ์ตัวอย่างเพื่อเก็บข้อมูลประกอบการทำวิจัยได้ จำนวน 326 คน ผลการวิจัยพบว่า ผู้ให้การพยาบาลผู้ป่วยมากกว่าครึ่งเป็นเพศหญิง ที่มีอายุ 46 ปีขึ้นไป เกือบ 3 ใน 4 เป็นบิดา/มารดา และญาติของผู้ป่วย มากกว่า 4 ใน 5 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เกือบทั้งหมดจบการศึกษาระดับประถมศึกษา มากกว่า 2 ใน 3 มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว และมากกว่าครึ่งที่รายได้ของครอบครัวต่อปีเมื่อเทียบกับรายจ่ายพอใช้ ผู้ป่วยโรคจิตในจังหวัดร้อยเอ็ดมากกว่าครึ่งเป็นเพศชาย เกือบ 3 ใน 4 มีอายุไม่เกิน 45 ปี มากกว่า 2 ใน 3 เริ่มป่วยเมื่ออายุ 20 ปี ขึ้นไป ประเภทของผู้ป่วย ร้อยละ 23.6 เป็นประเภทเก็บตัว ร้อยละ 35.0 เป็นประเภทแสดงออก ร้อยละ 27.9 เป็นประเภทหวาดระแวง สถานบริการที่ผู้ป่วยไปรับบริการส่วนมากคือ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ และโรงพยาบาลอำเภอ ประเภทบัตรที่ใช้ในการรับบริการ ส่วนมากใช้บัตรผู้มีรายได้น้อยและประกันสุขภาพ การให้การพยาบาลผู้ป่วย ร้อยละ 65.0 จะพาไปพบแพทย์ตามนัด ร้อยละ 55.8 จะกระตุ้นให้กำลังใจผู้ป่วยให้ผู้ป่วยทำงานตามความสามารถ ร้อยละ 50.6 เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยพูดระบายปัญหาและส่งเสริมให้เข้ากับสังคมกับคนทั่วไปได้ และร้อยละ 69.2 จะสังเกตอาการผิดปกติ ถ้าพบก็จะพาไปพบแพทย์ การดูแลผู้ป่วยนั้น เกือบทั้งหมดผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง ผู้ดูแลผู้ป่วยมากกว่า 2 ใน 3 ไม่เคยไดัรับการอบรมเรื่องการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเลย กระทรวงสาธารณสุขคือหน่วยงานที่จัดการอบรมและส่งบุคลากรมาเยี่ยมเยียนผู้ป่วยมากที่สุด ความต้องการการช่วยเหลือในการดูแลผู้ป่วยโรคจิต ร้อยละ 52.1 ต้องการคู่มือในการดูแลผู้ป่วย ร้อยละ 77.3 ต้องการเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการรักษาและร้อยละ 70.2 ต้องการการเยี่ยมติดตามผู้ป่วยที่บ้าน ทัศนคติของผู้ดูแลผู้ป่วยที่มีต่อการดูแลผู้ป่วยโรคจิตในจังหวัดร้อยเอ็ดในภาพรวมโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับดี ทัศนคติต่อการดูแลผู้ป่วยโรคจิตไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P ‹ .05) ในตัวแปร เพศ ลักษณะของครอบครัว อายุ ประเภทผู้ดูแลผู้ป่วย ส่วนผู้ดูแลผู้ป่วยที่มีรายได้ไม่พอใช้ จะมีทัศนคติต่อการดูแลผู้ป่วยดีกว่าผู้มีรายได้พอใช้เมื่อเทียบกับรายจ่าย (P < .05) ผลการวิจัยครั้งนี้ ได้ข้อเสนอแนะสำหรับผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลหรือการให้บริการผู้ป่วยโรคจิต ควรหาแนวทางเสริมสร้างความรู้ที่จำเป็นในเรื่องเกี่ยวกับโรคจิตให้แก่ผู้ให้การดูแลผู้ป่วย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับตำบล นอกจากนั้นควรสนับสนุนงบประมาณเป็นค่าเวชภัณฑ์ (ยา) สำหรับผู้ป่วย

Keywords: community, nurse, psychiatry, psychosis, psychotic, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ชุมชน, พยาบาล, โรคจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข

Code: 202410003001

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -