ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จินตนา หะรินเดช

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยลมชักศึกษาเฉพาะกรณีด้านสังคมและจิตใจ

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2540 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

รายละเอียด / Details:

ที่มาและความสำคัญของปัญหา ผู้ป่วยโรคลมชักต้องเผชิญกับความยุ่งยากในการดำเนินชีวิตหลายอย่าง ทั้งยังต้องเผชิญกับทัศนคติในเชิงลบของประชาชนทั่วไปที่ขาดความรู้ ความเข้าใจ และมีค่านิยมที่ไม่ถูกต้องในเรื่องลมชัก ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้เกิดความเครียดและวิตกกังวลมาก ประกอบกับโรคลมชักเป็นโรคเรื้อรังที่มีพยาธิสภาพทางสมองจึงมีผลกระทบต่อสติปัญญาและบุคลิกภาพของบุคคล ก่อให้เกิดปัญหาในการประกอบอาชีพและส่งผลกระทบต่อฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศชาติ โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา ได้บริการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักจำนวนมาก และนอกเหนือจากภาวะของความเจ็บป่วยทางกายแล้ว ยังพบโรคแทรกทางจิตเวชได้บ่อยในผู้ป่วยโรคลมชักด้วยสาเหตุต่าง ๆ กัน ดังนั้น ผู้วิจัยจึงมีความสนใจศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชัก ซึ่งมารับบริการที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนช่วยเหลือทางด้านจิตใจแก่ผู้ป่วยโรคลมชักต่อไป วัตถุประสงค์ของการวิจัย 1. เพื่อศึกษาลักษณะทั่วไปของผู้ป่วยโรคลมชัก 2. เพื่อศึกษาปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชัก 3. เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชัก 4. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาทางด้านจิตใจกับปัจจัยที่มีผลต่อปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชัก 5. เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนการรักษาและช่วยเหลือทางด้านจิตใจแก่ผู้ป่วยโรคลมชักต่อไป ระเบียบวิธีวิจัย กลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้ป่วยโรคลมชักซึ่งมารับบริการที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา ระหว่างเดือน พฤศจิกายน 2538 –มีนาคม 2539 โดยมีเกณฑ์คัดเลือกเข้าศึกษา คือ มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี ไม่จำกัด เพศ สถานภาพ สมรส การศึกษา อาชีพ รายได้ ไม่เคยมีประวัติเจ็บป่วยทางจิตเวชมาก่อน ไม่มีอาการชักในระยะเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนศึกษา ไม่มีความเจ็บป่วยแทรกซ้อนอื่น ๆ หรือมีความยุ่งยากจากเหตุการณ์อื่น ๆ ใน ชีวิต และมีสติปัญญาที่จะสื่อสารกันเข้าใจได้ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย 1. แบบสัมภาษณ์ที่สร้างขึ้นมาปรากฎด้วยลักษณะทั่วไป ปัจจัยด้านสังคมและจิตใจ 2. แบบทดสอบ SCL-90 (Symptom Distress Checklist 90) 3. แบบทดสอบ M.P.I (The Maudsley Personality Inventory) การเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยเป็นผู้สัมภาษณ์และดำเนินการทดสอบด้วยแบบทดสอบ SCL-90 แต่ละแบบทดสอบบุคลิกภาพ M.P.I. ด้วยตนเอง การวิเคราะห์ข้อมูลผู้วิจัยวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์โดยใชัโปรแกรมสำเร็จรูป EPI INFO เวอร์ชั่น 6 โดยใช้ค่าสถิติ X , S.D. , t-test , ANOVA , X2 และ ค่า Fisher axact ผลการวิจัย 1. ลักษณะทั่วไปของผู้ป่วยลมชัก พบว่า ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเพศชายและหญิง ในจำนวนใกล้เคียงกัน คิดเป็นร้อยละ51.00 และ 49.00 ตามลำดับ ผู้ป่วยร้อยละ 65.00 มีอายุระหว่าง21-40 ปี และร้อยละ 81.00 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ผู้ป่วยมีสถานภาพสมรส โสดและคู่ ในจำนวนใกล้เคียงกันคิดเป็นร้อยละ 46.00 และ 45.00 ตามลำดับ ร้อยละ 67.00 ของผู้ป่วยมีอาชีพเกษตรกรรม และรับจ้าง ส่วนรายได้ร้อยละ 58.00 มีรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาท ต่อเดือน สำหรับระยะเวลาเจ็บป่วยด้วยโรคลมชัก ผู้ป่วยร้อยละ 39.00 และ 35.00 มาเป็นระยะเวลา 1-10 ปี และ 11-20 ปี ตามลำดับผู้ป่วยร้อยละ 71.00 ยังมีอาการชักอยู่ แต่ร้อยละ29.00 ยังไม่มีอาการชัก 2. ปัจจัยที่มีผลต่อปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชัก 2.1 ปัจจัยทางด้านสังคมพบว่า ผู้ป่วยมีความสัมพันธ์ดีกับคู่สมรสและพ่อแม่ คิดเป็นร้อยละ 71.00 และ 83.00 ตามลำดับ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องและเพื่อนบ้านมีความสัมพันธ์ดีคิดเป็นร้อยละ 79.00 และ 79.00 ตามลำดับ ผู้ป่วยร้อยละ 59.00 มีรายได้น้อย มีหนี้สินและไม่มีรายได้ของตนเอง ผู้ป่วยร้อยละ 90.00 มีที่อยู่อาศัยในสภาพดีพอควร และผู้ป่วยร้อยละ 62.00 ไม่มีปัญหาด้านการงาน ส่วนปัญหาการเรียนมีผู้ป่วยเพียง 2 ราย อยู่ในวัยเรียนและว่ามีปัญหาการเรียนทั้งสองราย นอกนั้นไม่ตอบ 2.2 ปัจจัยด้านจิตใจ พบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 74.00 มีความรู้สึกว่าเพื่อนบ้านมีความรู้สึกที่ดีกับตนสงสารเห็นใจ ในขณะที่ผู้ป่วยมีความรู้สึกต่อตนเองไม่ดีถึงร้อยละ 72.00 สำหรับบุคลิกภาพ ผู้ป่วยทั้งหมดมีบุคลิกภาพแบบ Neurotic Extravertion 3. ปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชัก พบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 41.00 มีปัญหาทางจิตใจในกลุ่มอาการความรู้สึกผิดปกติด้านร่างกายมากที่สุด รองลงมามีปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการ ความรู้สึกซึมเศร้า ความรู้สึกกลัว สิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่มีเหตุผล พฤติกรรมบ่งชี้อาการวิกลจริต การย้ำคิดย้ำทำ ความรู้สึกตนเองบกพร่อง ความรู้สึกไม่เป็นมิตร ความรู้สึกหวาดระแวง และความรู้สึกวิตกกังวล คิดเป็นร้อยละ 31.00,31.00,23.00,19.00,17.00,17.00, และ 9.00 ตามลำดับ 4. ปัญหาทางด้านจิตใจและปัจจัยที่มีผลต่อปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชัก 4.1 ปัจจัยด้านสังคม 4.1.1 ปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการความรู้สึกผิดปกติด้านร่างกายของผู้ป่วยโรคลมชักมีความสัมพันธ์กับความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4.1.2 ปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการย้ำคิดย้ำทำของผู้ป่วยโรคลมชักมีความสัมพันธ์กับความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4.1.3 ปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการความรู้สึกตนเองบกพร่องของผู้ป่วยโรคลมชักมีความสัมพันธ์กับปัจจัยด้านการงานและความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4.1.4 ปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการ ความรู้สึกซึมเศร้าของผู้ป่วยโรคลมชักมีความสัมพันธ์กันกับความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง และความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4.1.5 ปัญหาด้านจิตใจในกลุ่มอาการวิตกกังวลและความรู้สึกไม่เป็นมิตรของผู้ป่วยโรคลมชัก ไม่มีความแตกต่าง หรือสัมพันธ์กันตามปัจจัยด้านสังคมต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 4.1.6 ปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการความรู้สึกกลัวสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยไม่มีเหตุผลของผู้ป่วยโรคลมชัก มีความสัมพันธ์กับความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4.1.7 ปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการความรู้สึกหวาดระแวงของผู้ป่วยโรคลมชัก มีความสัมพันธ์กันกับความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านและมีความแตกต่างกันตามปัจจัยด้านการงาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4.1.8 ปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการพฤติกรรมบ่งชี้อาการวิกลจริตของผู้ป่วยโรคลมชัก มีความสัมพันธ์กับพ่อแม่และความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 4.2 ปัจจัยทางด้านจิตใจ 4.2.1 ปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการความรู้สึกผิดปกติด้านร่ายกายของผู้ป่วยโรคลมชัก มีความแตกต่างกันตามความรู้สึกของเพื่อนบ้านต่อผู้ป่วย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4.2.2 ปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการย้ำคิดย้ำทำและกลัวสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่มีเหตุผล ไม่มีความแตกต่างหรือสัมพันธ์กันตามปัจจัยด้านจิตใจต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 4.2.3 ปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการความรู้สึกตนเองบกพร่องของผู้ป่วยโรคลมชักมีความแตกต่างกันตามความรู้สึกของเพื่อนบ้านต่อผู้ป่วย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4.2.4 ปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการความรู้สึกซึมเศร้าของผู้ป่วยโรคลมชัก มีความแตกต่างกันตามความรู้สึกของเพื่อนบ้านต่อผู้ป่วยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 4.2.5 ปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการวิตกกังวลของผู้ป่วยโรคลมชัก มีความแตกต่างกันตามบุคลิกภาพด้าน Extravertion อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4.2.6 ปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการความรู้สึกไม่เป็นมิตรของผู้ป่วยโรคลมชักมีความแตกต่างกันตามความรู้สึกของเพื่อนบ้านต่อผู้ป่วย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4.2.7 ปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการความรู้สึกหวาดระแวง และพฤติกรรมบ่งชี้อาการวิกลจิริตของผู้ป่วยโรคลมชัก มีความแตกต่างกันตามความรู้สึกของเพื่อนบ้านต่อผู้ป่วย บุคลิกภาพ Extravertion และ Neuroticism อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01,.05 และ .05 ตามลำดับ

Keywords: epilepsy, MPI, psychiatry, psychology, SCL-90, social, จิตวิทยา, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, โรคลมชัก, สังคม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 202410003002

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -