ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สำราญ อาบสุวรรณ และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันของผู้ติดเชื้อเอดส์ ครอบครัว และชุมชน ในจังหวัดบุรีรัมย์ , กรณีศึกษา

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2540 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

รายละเอียด / Details:

โรคเอดส์ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศปัญหาหนึ่ง เนื่องจากไม่มียารักษาให้หายขาดได้ นับวันปัญหาจะทวีความรุนแรงมากขึ้น การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ติดเชื้อ ครอบครัว และชุมชนในจังหวัดบุรีรัมย์ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้ติดเชื้อเอดส์จำนวน 9 ราย สมาชิกในครอบครัวผู้ติดเชื้อเอดส์ จำนวน 13 ราย ผู้นำชุมชนและประชาชนในหมู่บ้านผู้ติดเชื้อเอดส์ จำนวน 9 หมู่บ้าน การเก็บข้อมูลใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (Indepth Interview) ในกลุ่มตัวอย่างที่ 1 และ 2 และการสนทนากลุ่ม (Focus Group) ในกลุ่มตัวอย่างที่ 3 ระยะเวลาการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคมถึง มิถุนายน 2540 ผลการศึกษาพบว่า พฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ติดเชื้อเอดส์ ส่วนใหญ่ยังปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง ซึ่งได้แก่ การรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ การออกกำลังกาย การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และการป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนและการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ส่วนการดูแลด้านจิตใจ พบว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีสุขภาพจิตดี และสามารถปรับตัวเพื่อยอมรับความจริงและปัญหาที่เกิดได้ เนื่องจากการได้รับกำลังใจจากบุคคลใกล้ชิด ส่วนพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว พบว่า สามารถอยู่ร่วมกันได้เนื่องจากผู้ติดเชื้อเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว แต่ยังขาดความพร้อมในเรื่องการปฏิบัติและการดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์ ซึ่งพบว่า การดูแลและการปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอดส์นั้นยังทำไม่ถูกต้องในบางเรื่อง เช่น การทำแผล การกำจัดสิ่งปนเปื้อน การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ เป็นต้น ส่วนพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันในสังคมระหว่างผู้ติดเชื้อกับชุมชน พบว่า สามารถอยู่ร่วมกันได้ในลักษณะจำยอมหรือมีเงื่อนไข เนื่องจากผู้ติดเชื้อเอดส์เป็นสมาชิกคนหนึ่งในชุมชนนั้น ยังพบว่าชุมชนยังขาดความพร้อมที่จะแบกรับและเผชิญกับปัญหาดังกล่าวข้างต้นด้วย จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ปัญหาการอยู่ร่วมกันในสังคมของผู้ติดเชื้อเอดส์ ครอบครัวและชุมชนก็ยังคงมีอยู่ต่อไป ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาดำเนินงานแก้ไข ตลอดจนส่งเสริมและรณรงค์ให้สังคมและชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเหล่านี้ได้ด้วยความเต็มใจ มีความพร้อม และมีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยจะต้องอาศัยการประสานงานและร่วมกันทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ปัญหานี้หมดไปในอนาคตอันใกล้นี้

Keywords: AIDS, family, HIV, psychiatry, social, ครอบครัว, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, โรคเอดส์, สังคม, เอดส์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ กระทรวงสาธารณสุข

Code: 202410003005

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -