ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ทัศนีย์ ตันทวีวงศ์, ภมริน เชาวนจินดา, ศุลีพร จินตมัย, เพลินพิศ จันทรศักดิ์, หทัยรัฐณ์ เอื้อสามาลย์, เดือนเพ็ญ ทองขาว, วรัฎฐาน สวนน้อย

ชื่อเรื่อง/Title: ครอบครัวกับการพยายามฆ่าตัวตายในชุมชนเมืองแห่งหนึ่ง

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

เพื่อศึกษาลักษณะครอบครัวของผู้พยายามฆ่าตัวตาย และเปรียบเทียบลักษณะครอบครัวที่คล้ายคลึงกัน แต่ไม่มีการพยายามฆ่าตัวตาย รวมถึงผลกระทบต่อสมาชิกในครอบครัว ภายหลังจากมีผู้พยายามฆ่าตัวตาย การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาจากกลุ่มผู้พยายามฆ่าตัวตายและครอบครัวที่มารับบริการในโรงพยาบาลศรีธัญญา ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2542 จำนวน 4 ราย ครอบครัวเปรียบเทียบ จำนวน 2 ราย ผลที่ได้ ครอบครัวผู้พยายามฆ่าตัวตาย มีลักษณะเป็นทั้งครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยายบิดาเป็นผู้นำครอบครัว มีบุคลิกภาพก้าวร้าว ใช้วิธีการรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ไม่ควบคุมอารมณ์ ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของสมาชิกในครอบครัว ครอบครัวมีอาชีพค้าขาย ขายกล้วยทอด เผือกทอด และขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง ฐานะอยู่ในระดับปานกลาง ความสัมพันธ์ในครอบครัวมีลักษณะต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจกัน ส่วนการสื่อสารในครอบครัวนั้นมีลักษณะไม่ดีและไม่มีการสื่อสารเท่า ๆ กัน ผู้พยายามฆ่าตัวตายไม่พึงพอใจในความเป็นอยู่ประจำวัน ส่วนใหญ่ไม่เป็นที่ยอมรับของสมาชิกในครอบครัว เพราะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนและมีอาการหงุดหงิด รู้สึกตัวเองถูกดูถูกหรือไม่ได้รับความเชื่อถือ มักถูกมองว่าเป็นคนมีปัญหา เข้าใจยาก บทบาทของครอบครัวพบว่าปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เหมาะสม ในวัยเด็กผู้พยายามฆ่าตัวตายถูกละเลย ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ขาดความอบอุ่น ขาดรูปแบบพฤติกรรมที่เหมาะสมและมีบางครอบครัวที่สมาชิกใช้วิธีการฆ่าตัวตายในการแก้ไขปัญหา ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ จากการศึกษาเปรียบเทียบครอบครัวในชุมชนเดียวกันที่ไม่มีการฆ่าตัวตาย พบว่า สมาชิกจะมีการทำกิจกรรมร่วมกันบ่อย ๆ มีการให้กำลังใจซึ่งกันและกันเมื่อมีปัญหา สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสได้ระบายความทุกข์และมีการแก้ไขปัญหาร่วมกันและสนับสนุนกันในสิ่งที่ถูกต้อง ผลกระทบต่อสมาชิกในครอบครัว ภายหลังจากที่มีผู้พยายามฆ่าตัวตาย สมาชิกในครอบครัวรู้สึกตกใจ คิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นกับครอบครัวของตนเองรู้สึกละอาย และเสียใจที่เลี้ยงดูลูกไม่ดี แต่ครอบครัวยังไม่มีการแก้ไขปัญหา สรุปและข้อเสนอแนะ 1. ควรมีการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการด้านการส่งเสริมสุขภาพจิตครอบครัวแก่ประชาชนทั่ว ๆ ไป 2. ครอบครัวที่สมาชิกเคยพยายามฆ่าตัวตายควรได้รับการกระตุ้นให้ความระมัดระวังไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำ 3. ควรมีการให้บริการปรึกษาแก่ผู้พยายามฆ่าตัวตายและครอบครัว และในกรณีที่ได้ประเมินครอบครัวและผู้พยายามฆ่าตัวตายแล้วพบว่ามีความเสี่ยงสูง ควรแนะนำให้พบจิตแพทย์ 4. นำข้อมูลที่ได้มาพิจารณาวางแผน ป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพจิตในครอบครัว 5. ควรมีการอบรมบุคลากรทางสาธารณสุขด้านการให้การบริการปรึกษาและการเจรจาต่อรองกับผู้พยายามฆ่าตัวตาย 6. กรมสุขภาพจิตควรมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมตำรวจ โรงเรียน เป็นต้น

Keywords: ฆ่าตัวตาย, suicide

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 20420005158

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -