ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุชาติ ตรีทิพยธิคุณ และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจิตวิทยาต่อครอบครัวและชุมชนของแรงงานไทยภายหลังกลับจากทำงานในต่างประเทศ

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจิตวิทยาต่อครอบครัวและชุมชนของแรงงานไทยภายหลังกลับจากทำงานในต่างประเทศ, พ.ศ. 2531

รายละเอียด / Details:

การเดินทางไปทำงานในต่างประเทศของแรงงานไทยนั้นมีมานานแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2514 เป็นต้นมา ซึ่งในระยะแรก ๆ นั้น มีจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่เดินทางไปทำงานในประเทศแถบตะวันออกกลาง ต่อมาสถิติของแรงงานที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปีละไม่กี่ร้อยคนเป็นปีละมากกว่า 100,000 คน ภายในระยะเวลาเพียง 7 ปี และส่วนใหญ่ของแรงงานเหล่านี้ (40 %) มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการที่มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศเป็นจำนวนมากนี้เอง ทำให้รายได้อันดับ 1 ของประเทศในปี พ.ศ. 2528 เป็นรายได้จากแรงงานไทยในต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนี้เอง ทำให้แรงงานส่วนใหญ่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การไปทำงานในต่างประเทศของแรงงานก็ได้ส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ทั้งต่อครอบครัว ต่อตัวแรงงานเอง และต่อชุมชนของแรงงานเหล่านั้นด้วย เช่น ปัญหาการถูกหลอกลวงของแรงงาน, ปัญหาความขัดแย้งระหว่างญาติ เรื่องการกู้ยืมเงิน, ปัญหาความเจ็บป่วยและการบาดเจ็บจนถึงขั้นเสียชีวิตของแรงงานในต่างประเทศ, ปัญหาพฤติกรรมไม่เหมาะสมของสมาชิกบางคนในครอบครัว เช่น การติดสารเสพย์ติดของลูกหลานแรงงาน, ปัญหาการนอกใจของภรรยา เป็นต้น ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้มีผลทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิต รวมทั้งความเจ็บป่วยทางจิตเวชของครอบครัวแรงงานได้ในหลายระดับ ความรุนแรงจากการที่ได้รับฟังปัญหาทุกข์ร้อนใจของผู้ป่วยเหล่านี้อยู่เป็นประจำ คณะผู้วิจัยของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ จึงมีความสนใจที่จะศึกษาว่า ภายหลังจากที่แรงงานเดินทางกลับมาแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านสถานภาพทางเศรษฐกิจและรูปแบบการดำเนินชีวิตแตกต่างไปจากเดิมหรือไม่อย่างไร และการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ จะมีผลกระทบทางด้านสังคมจิตวิทยาของชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่อย่างไรบ้าง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมา โดยหวังว่าผลจากการศึกษาในครั้งนี้จะได้ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง จะได้ช่วยกันหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไป การศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยทั้งในเชิงคุณภาพและประมาณ ทำการศึกษาในหมู่บ้านสองแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีแรงงานซึ่งเคยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหลังคาเรือนในแต่ละหมู่บ้าน โดยหมู่บ้านแห่งหนึ่งเป็นหมู่บ้านที่ถูกกำหนดให้อยู่ในเขตพื้นที่ยากจน และอยู่ในเป้าหมายของการเร่งรัดพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525-2529) และอีกหมู่บ้านหนึ่งอยู่นอกเขตพื้นที่ยากจน จากการสำรวจได้หมู่บ้านที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้คือ 1. หมู่บ้านผักตบ ตำบลผักตบ อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี 2. หมู่บ้านดอนปอแดง ตำบลโคกสำราญ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่นจำนวนกลุ่มตัวอย่างรวมกันทั้งสิ้นเท่ากับ 500 ราย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่เดินทางกลับมาแล้ว ใช้วิธีการเก็บข้อมูล 2 ลักษณะคือ 1. วิธีสังเกตโดยการมีส่วนร่วม โดยผู้เก็บข้อมูล ซึ่งเป็นคนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านและรู้ข้อมูลทั่วไปของหมู่บ้านเป็นอย่างดี ทำการบันทึกข้อมูลสำคัญ ๆ ในหมู่บ้านที่เกี่ยวข้องกับสถานภาพทางเศรษฐกิจ ค่านิยม แบบแผนการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน กิจกรรมรวมกลุ่มในชุมชน ปัญหาสังคม ในหมู่บ้าน เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการนอกใจของภรรยาแรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศ ปัญหาการหย่าร้าง ฯลฯ 2. แบบสอบถามสำเร็จรูป โดยการสัมภาษณ์บุคคลในครอบครัวทั้งที่เป็นตัวแรงงาน ภรรยา บิดา-มารดา ซึ่งเป็นผู้ที่สามารถให้รายละเอียดต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน ผู้เก็บข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้เป็นครูระดับปริญญาตรีของโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ๆ ละ 2 คน ซึ่งเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านมานานจนมีความคุ้นเคยกับชุมชนและรู้รายละเอียดต่าง ๆ ของหมู่บ้านเป็นอย่างดี การศึกษาครั้งนี้มีรายละเอียดที่น่าสนใจพอสรุปได้ดังนี้ ร้อยละ 71.6 ของแรงงานเดินทางกลับมาแล้ว อายุเฉลี่ยของแรงงานเท่ากับ 36 ปี ระยะเวลาที่กลับมาจากต่างประเทศเฉลี่ยเท่ากับ 3 ปี 5 เดือน มากกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงาน (56.2%) เคยไปทำงานมากกว่า 1 ครั้ง ร้อยละ 70.9 ของแรงงานมีหนี้สินก่อนไปทำงาน ซึ่งในจำนวนนี้ ร้อยละ 87.3 เป็นหนี้สินที่เกิดจากการลงทุนเพื่อการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ คิดเฉลี่ยรายละ 34,147 บาท เงินลงทุนสำหรับการไปทำงานครั้งแรกเฉลี่ยรายละ 33,048 บาท เงินเดือนเฉลี่ย 7,469 บาท ระยะเวลาสัญญาการทำงานอยู่ระหว่าง 1-2 ปี ภายหลังกลับจากทำงานครั้งแรก ร้อยละ 75.4 ของแรงงานมีเงินเหลือเก็บเฉลี่ยรายละ 64,392 บาท ร้อยละ 13 ยังคงเป็นหนี้เฉลี่ยรายละ 22,015 บาท ร้อยละ 11.6 สามารถปลดเปลื้องหนี้สินได้หมด แต่ไม่มีเงินเดือนเหลือเก็บ ซึ่งสาเหตุที่ไม่สามารถปลดหนี้ได้เพราะถูกหลอกลวงต้มตุ๋นก่อนได้ไปทำงานถึงร้อยละ 27.6 คิดเป็นเงินเฉลี่ยรายละ 29,619 บาท อีกประการหนึ่งคือการที่ต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้จากนายทุนภายในหมู่บ้านในอัตราสูงถึงร้อยละ 8-15 ต่อเดือน มีแรงงานเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่กู้เงินจากธนาคารซึ่งเสียดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่านี้มาก ทั้งนี้เพราะมีความยุ่งยากมากกว่า ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมจิตวิทยา มีดังต่อไปนี้ 1. ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 85.6 ของแรงงานมีฐานะดีขึ้น โดยมีเงินเหลือเก็บเฉลี่ยรายละ 58,740 บาท ร้อยละ 4.8 ฐานะทรุดลงกว่าเดิม ผู้ที่ยังคงเป็นหนี้พบร้อยละ 16.2 เฉลี่ยเป็นหนี้รายละ 22,143 บาท ร้อยละ 91 ของแรงงานยังคงประกอบอาชีพเดิม คือ ทำนา ในจำนวนร้อยละ 36 มีความต้องการที่จะเปลี่ยนอาชีพส่วนผู้ที่เปลี่ยนอาชีพไปแล้วพบร้อยละ 9 อาชีพใหม่ ได้แก่ ช่างไม้ ช่างปูน เลี้ยงหมู ขุดบ่อเลี้ยงปลา ขับรถสองแถว เปิดร้านขายของเบ็ดเตล็ด เป็นต้น การใช้จ่ายเงินที่ได้มานั้น ร้อยละ 51.8 ของแรงงานใช้จ่ายไปในเรื่องการสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยคิดเป็นเงินเฉลี่ยรายละ 87,493 บาท การลงทุนเพื่อการประกอบอาชีพ พบว่า มีการซื้อที่ดิน ทำกินมากที่สุดถึงร้อยละ 30.6 ของแรงงานคิดเป็นเงินเฉลี่ยรายละ 70,663 บาท ซื้อวัว ควาย ร้อยละ 20.6 คิดเป็นเงินเฉลี่ยรายละ 23,664 บาท ที่เหลือเป็นการลงทุนทำธุรกิจต่าง ๆ เช่น เลี้ยงหมู ขุดบ่อเลี้ยงปลา เปิดร้านขายของเบ็ดเตล็ด ซื้อรถสองแถว รถสามล้อ เป็นต้น การใช้จ่ายสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ พบว่ามีการซื้อเครื่องรับโทรทัศน์มากที่สุดถึงร้อย 46.0 ของแรงงานราคาเฉลี่ยเครื่องละ 11,600 บาท รองลงไป คือ ชุดเครื่องเสียงพบร้อยละ 24.2 ราคาเฉลี่ยชุดละ 11,000 บาท เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น พัดลม หม้อหุงข้าว เตารีด ตู้เย็น รวมกันร้อยละ 25 ซื้อรถมอเตอร์ไซด์ ร้อยละ 11.8 ราคาเฉลี่ยคันละ 22,000 เมื่อแบ่งรายการใช้จ่ายเป็น 3 หมวดใหญ่ พบว่า มีการใช้จ่ายไปในเรื่องที่อยู่อาศัยมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 49.6 ของเงินรายจ่ายทั้งหมด รองลงไปคือ การลงทุนสำหรับการประกอบอาชีพ (31.9%) และการใช้จ่ายเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ (18.5%) เกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานนั้น พบว่า มีแรงงานที่ย้ายครอบครัวไปอยู่ที่อื่น 5 ราย จากจำนวนแรงงานทั้งสิ้น 500 ราย (1%) สาเหตุที่ย้ายเนื่องจาก มีภาวะหนี้สินมากมายจากการไปทำงานต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการถูกหลอกลวง ทำให้สูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมากจึงต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นเพราะดูหน้าเพื่อนบ้านไม่ไหว มีบางรายต้องการหนีเจ้าหนี้ 2. ผลกระทบทางสังคมจิตวิทยา ก. ระบบครอบครัวและเครือญาติในเรื่องการแต่งงานนั้นพบว่า แรงงานที่เป็นโสดภายหลังกลับจากทำงานในต่างประเทศมีการแต่งงานเร็วขึ้น เงินค่าสินสอดเพิ่มขึ้นจากเดิมค่อนข้างมาก โดยปกติแล้วอยู่ระหว่าง 10,000-20,000 บาท แต่จะขึ้นไปถึง 50,000 – 100,000 บาท และทั้งหมดของแรงงานที่แต่งงานใหม่นี้มีทัศนคติเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวว่า ต้องการมีลูกเพียงรายละ 2-3 คน ก็เพียงพอ เนื่องจากคิดว่าถ้ามีลูกมากจะทำให้ยากจน ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับบิดา มารดา ของตนเองมาก่อน ในเรื่องของการแบ่งทรัพย์สินมรดกนั้น ไม่พบว่า มีปัญหาขัดแย้งกันอย่างรุนแรงแต่อย่างใด ส่วนใหญ่ของผู้ที่ไปทำงานต่างประเทศมักจะไม่ขอรับมรดกจากพ่อแม่ เพราะถือว่าตนเองมีโอกาสและฐานะดีกว่าพี่น้องคนอื่น ๆ ในขณะเดียวกันยังต้องคอยให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลต่อญาติพี่น้องอยู่แล้วซึ่งพบว่าส่วนใหญ่มีการช่วยเหลือโดยการให้ยืมหรือให้เปล่า แรงงานเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีความรู้สึกว่าถูกบรรดาญาติ ๆ เอารัดเอาเปรียบ และไม่เต็มใจที่จะให้ความช่วยเหลือ ข. ระบบการศึกษา เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีการศึกษาต่ำ ดังนั้นภายหลังกลับมาแล้วจึงมีทัศนคติที่ดีต่อการศึกษา ต้องการให้ลูกของตนได้เรียนหนังสือสูงกว่าตนเอง โดยเฉพาะมักมีการเน้นไปในสาขา วิชาชีพ เช่น ช่างต่าง ๆ มีเพียงส่วนน้อย ที่ไม่ต้องการให้เรียนสูงด้วยเหตุผลว่า ไม่คุ้มกับการลงทุน ค. ศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี แต่เดิมชาวบ้านส่วนใหญ่แทบทุกหลังคาเรือนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางศาสนาแลประเพณีประจำท้องถิ่นอย่างทั่วถึงถึงแม้จะมีฐานะยากจนแต่ก็มีความเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างมาก ภายหลังจากที่แรงงานเดินทางกลับมาส่วนใหญ่ มีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นจึงทำให้การเรี่ยไรเงินเพื่อกิจกรรมทางศาสนาของหมู่บ้านได้ยอดเงินที่สูงกว่าเดิม การจัดงานรื่นเริงตามประเพณี จัดได้ใหญ่โตขึ้นกว่าเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรก ๆ ของการเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ง. การพักผ่อนหย่อนใจ ในระยะแรก ๆ ที่แรงงานเดินทางกลับมานั้น มีการรวมกลุ่มไปเที่ยวเตร่ในเมืองกันเป็นประจำใช้เงินกันค่อนข้างสุรุ่ยสุร่าย ส่วนใหญ่นิยมเข้าห้องอาหาร ฟังเพลง และเข้าบาร์ในเมือง มีการจัดนำเที่ยวไปชายทะเลบ้างเป็นครั้งคราว จ. ทัศนคติต่อการพัฒนาชุมชน ก่อนไปทำงานต่างประเทศนั้น การรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมพัฒนาชุมชนของชาวบ้าน เช่นการขุดลอกคูคลอง การปรับปรุงและการสร้างถนนหนทาง ชาวบ้านส่วนใหญ่เต็มใจให้ความร่วมมือ โดยไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทน แต่กลับมีการออกทุนทรัพย์เพื่อหาซื้ออาหารมารับประทานร่วมกันในระหว่างทำงาน แต่หลังจากที่แรงงานเดินทางกลับจากต่างประเทศทำให้กิจกรรมต่างเหล่า ๆ นี้ ไม่มีความพร้อมเพรียงและเต็มใจเหมือนเดิม มักมีการถามถึงค่าจ้างแรงงานก่อนการทำงาน หากได้ค่าแรงที่พอใจจึงจะทำบรรยากาศของความร่วมแรงร่วมใจในการทำงานพัฒนาเพื่อส่วนรวมจึงพบเห็นได้น้อยลง อย่างไรก็ตามการเรี่ยไรเงินเพื่อพัฒนาวัดประจำหมู่บ้านกลับมีแนวโน้มดีขึ้นเพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ยังมีความเต็มใจที่จะบริจาคเงินในเรื่องนี้อยู่เช่นเดิม ในเรื่องของการแสดงออกของชาวบ้านนั้น มีแนวโน้มดีขึ้น เช่น การเดินทางไปติดต่อกับหน่วยงาน ต่าง ๆ ของรัฐ ซึ่งในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่กล้าติดต่อกับหน่วยงานของรัฐด้วยตนเอง แต่มักจะมอบเรื่องราวให้ผู้นำหมู่บ้าน เช่น ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้จัดการให้ แต่หลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศแล้ว แรงงานส่วนใหญ่มีความกล้าที่จะติดต่อกับหน่วยงานของรัฐมากขึ้น มีการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐแก้ไขปัญหาท้องถิ่น มีการประชุมกลุ่มเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้านของตนเองมากขึ้น ฉ. ปัญหาสังคมในชุมชน ในอดีตนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่มีความขยันขันแข็งต่อการประกอบอาชีพ ใช้ชีวิตประจำวันอย่างมัธยัสถ์ และมีความสุขกันตามอัตภาพ แต่หลังจากที่แรงงานส่วนใหญ่เดินทางกลับจากต่างประเทศปรากฎว่ามีการเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้านหลายประการ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมในชุมชนมากมาย ที่สำคัญ ได้แก่ มีการเล่นพนัน การติดสารเสพติดของกลุ่มวัยรุ่น การเสพสุราเรื้อรัง ปัญหาการนอกใจของภรรยา เป็นต้น สำหรับปัญหาเกี่ยวกับการเล่นการพนัน กระทำกันในหลายรูปแบบ ที่นิยมมากที่สุดคือ การเล่นหวยเถื่อน ซึ่งมีการทำอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีการแบ่งเขตจำหน่ายหวยเถื่อนในหมู่บ้านเป็นเขต ๆ อย่างชัดเจน ที่รองลงไปได้แก่ การเล่นไฮโล เล่นไพ่ ซึ่งมีการตั้งวางกันโดยมีแม่บ้านส่วนหนึ่งมาร่วมเล่นด้วย บางครอบครัวก็เล่นกันทั้งพ่อบ้านและแม่บ้าน แม่บ้านบางคนติดการพนันมากจนไม่ยอมทำอาหารปล่อยให้ลูกตัวน้อย ๆ ร้องไห้อยู่ที่บ้านเป็นที่น่าเวทนาของเพื่อนบ้านอยู่เป็นประจำ การติดสารเสพติดพบว่า ร้อยละ 5.5 ของแรงงานที่มีครอบครัว มีบุตรซึ่งอยู่ในวัยรุ่นติดสารเสพติดประเภทกัญชา ทินเนอร์ และกาว ส่วนใหญ่ของผู้ติดสารเหล่านี้จะเริ่มเสพในช่วงที่ผู้ปกครองทำงานอยู่ในต่างประเทศ สำหรับผู้ที่ติดสุราเรื้อรังนั้น พบว่ามีอดีตแรงงาน 3 ราย ที่เสพสุราเป็นประจำเนื่องจากถูกหลอกลวงเกี่ยวกับการไปทำงานในต่างประเทศจนต้องขายบ้านและที่นา รวมทั้งทรัพย์สินต่าง ๆ ไปจนหมดสิ้น ปัญหาเรื่องการนอกใจสามีของภรรยาแรงงาน จากการสำรวจข้อมูลโดยวิธีที่น่าเชื่อถือได้พบว่ามีภรรยาที่นอกใจสามีทั้งสิ้น 54 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.8 ของแรงงานที่มีครอบครัว อายุอยู่ระหว่าง22 – 48 ปี ส่วนใหญ่มีอายุประมาณ 30 ปี มากกว่าครึ่งหนึ่งของสามีไม่ทราบความจริง ที่ทราบมี 20 ราย หย่าร้างกันเพราะสาเหตุนี้ 6 ราย ไม่พบที่ฆ่ากันตาย สามีที่มีภรรยาน้อยพบ 5 ราย โดยอยู่กินกันอย่างเปิดเผย หย่าร้างกับภรรยาเดิม 1 ราย ขณะสำรวจข้อมูลพบว่า ทุกรายเลิกกับภรรยาน้อยหมดแล้ว สรุป เมื่อมองภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านโดยพิจารณาจากความคิดเห็นของผู้ให้สัมภาษณ์ พบว่า ร้อยละ 69 คิดว่าหมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ร้อยละ 90 ของ แรงงานรู้สึกพอใจกับการที่ได้ไปทำงานต่างประเทศ ในจำนวนนี้ร้อยละ 65 ต้องการกลับไปทำงานอีกซึ่งแสดงให้เห็นว่าแรงงานเหล่านี้ไม่มีความหวังว่า ฐานะความเป็นอยู่ของตนจะดีขึ้นได้ หากยังคงทำงานอยู่ในประเทศต่อไปจึงพยายามดิ้นรนไปทำงานต่างประเทศ ถึงแม้จะต้องเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง การลงทุนครั้งละหลายหมื่นบาท ทั้งยังต้องจากบ้าน ทิ้งครอบครัวไปครั้งละนานแรมปีก็ตาม จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้บริหารประเทศจะต้องรับดำเนินการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้อย่างจริงจัง จริงใจและต่อเนื่อง ด้วยการเร่งพัฒนาชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภาพที่มีแรงงานไปทำงานต่างประเทศมากที่สุดของประเทศ เพื่อให้แรงงานเหล่านี้สามารถประกอบอาชีพในท้องถิ่นของตนเองได้ อันจะนำมาซึ่งความรักและหวงแหนถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง ก่อให้เกิดความมั่นคงแก่ประเทศชาติสืบไปในที่สุด

Keywords: community, family, labour, psychiatry, psychology, social, stress, คนงาน, ครอบครัว, ความเครียด, เครียด, จิตวิทยา, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ชุมชน, ผู้ใช้แรงงาน, สังคม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2531

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กรมสุขภาพจิต กระทรงสาธารณสุข

Code: 300310000013

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -