ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ศิริพร ทองบ่อ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาภาวะสุขภาพจิตและวิธีการเผชิญปัญหาของหัวหน้าครอบครัวในชุมชนแออัด เขตเทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่องการศึกษาภาวะสุขภาพจิตและวิธีการเผชิญปัญหาของหัวหน้าครอบครัวในชุมชนแออัด เขตเทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น,พ.ศ. 2539

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาภาวะสุขภาพจิต และวิธีการเผชิญปัญหาของหัวหน้าครอบครัวในชุมชนแออัด เขตเทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือ หัวหน้าครอบครัวที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด เขตเทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ได้แก่ ชุมชนเทพารักษ์ตอนต้นเทพารักษ์ตอนกลาง เทพารักษ์ตอนปลาย หนองแวงตราชู 2 โนนหนองวัด 2 หลักเมือง และมิตรภาพ จำนวนทั้งสิ้น 150 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบง่าย (Simple random sampling) ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนสิงหาคม 2539 ถึงเดือนกันยายน 2539 โดยใช้แบบสอบถาม ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป ส่วนที่ 2 ภาวะสุขภาพจิต และส่วนที่ 3 วิธีการเผชิญปัญหา แบบสอบถามดังกล่าว ได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 7 ท่าน และทดสอบหาความเที่ยงของแบบสอบถาม ในส่วนที่ 2 และ ส่วนที่ 3 โดยวิธีหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค (Cronbach’s alpha coefficient) ได้ค่าความเที่ยง เท่ากับ 0.92 และ 0.81 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. หัวหน้าครอบครัวในชุมชนแออัดส่วนใหญ่ (ร้อยละ 86.7) มีระดับภาวะสุขภาพจิตใจระดับไม่ดี มีส่วนน้อยเพียงร้อยละ 13.3 ที่มีระดับภาวะสุขภาพจิตในระดับดี 2. หัวหน้าครอบครัวในชุมชนแออัด เลือกใช้วิธีการเผชิญปัญหาทั้งวิธีการเผชิญปัญหาที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหา และวิธีการเผชิญปัญหาที่มุ่งเน้นปรับอารมณ์ โดยวิธีการเผชิญปัญหาที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาที่หัวหน้าครอบครัวเลือกใช้มากที่สุด ใน 5 อันดับแรกคือ ยอมรับความเป็นจริงตามสภาพปัญหา แยกปัญหาออกเป็นส่วนย่อย ๆ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ง่ายและดีขึ้น นั่งคิดทบทวนเหตุการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้น มองปัญหาอย่างรอบคอบทุกครั้งตามสภาพความเป็นจริงโดยปราศจากอคติ และซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับสาเหตุของปัญหาหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ ส่วนวิธีการเผชิญปัญหาที่มุ่งเน้นปรับอารมณ์ที่หัวหน้าครอบครัวเลือกใช้มากที่สุด ใน 5 อันดับแรกคือ คิดเสียว่าโลกนี้ไม่ใช่มีเราคนเดียวที่มีปัญหา หัวเราะได้เสมอแม้จะทุกข์และกังวลใจกับปัญหาสักเพียงใด สวดมนต์ไหว้พระให้ใจสงบ ทำงานหรือออกกำลังกายเพื่อคลายความตึงเครียด และเข้านอน ผลการวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภาวะสุขภาพจิตของบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้าครอบครัว ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหาทางช่วยเหลือโดยเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตและแนวทางในการดูแลสุขภาพจิตของตนเองแก่หัวหน้าครอบครัวในชุมชนแออัด เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิต หรือโรคทางจิตเวช

Keywords: community, family, psychiatry, stress, ครอบครัว, ความเครียด, เครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ชุมชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2539

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 300390000002

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -