ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ปราณีต วรวสุวัส, ถนอม ปัญเศษ, อาทิตย์ สัตบุตร, สุพจน์ สนเท่ห์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาผลการดำเนินงานโครงการรณรงค์แปรงฟันหลังเวลาอาหารเย็นและตื่นนอนตอนเช้า หอผู้ป่วยโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่องการศึกษาผลการดำเนินงานโครงการรณรงค์แปรงฟันหลังอาหารเย็นและตื่นนอนตอนเช้า หอผู้ป่วยโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น,พ.ศ. 2540

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการดำเนินงานโครงการรณรงค์แปรงฟันเวลาหลังอาหารเย็น และตื่นนอนตอนเช้าแก่ผู้ป่วยจิตเวชที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น โดยเป็นการวิจัยเชิงกึ่งทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยจิตเวช จำนวน 236 คน ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นระหว่าง เดือน มกราคม – กันยายน 2540 โดยเลือกตัวอย่างเพื่อทำการศึกษาแบบเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแผนการสอนเรื่องความรู้ในการดูแลอนามัยช่องปาก,แผนการสอนและการสาธิตวิธีการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือในเวลา หลังอาหารเย็น และเวลาตื่นนอนตอนเช้า เป็นระยะเวลา 8 เดือน ตลอดโครงการ,แบบสัมภาษณ์ผู้ป่วย ,เจ้าหน้าที่และแบบบันทึกรายงานที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลดังนี้ คือข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย,การปฏิบัติกิจกรรมแปรงฟัน,ความพึงพอใจต่อการให้ผู้ป่วยปฏิบัติกิจกรรมแปรงฟันและความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยต่อโครงการรณรงค์แปรงฟันเวลาหลังอาหารเย็นและตื่นนอนตอนเช้า ใช้วิธีแจกแจงความถี่และหาค่าร้อยละ,ความรู้ของผู้ป่วย ใช้วิธีหาค่ามัชฌิมเลขคณิต ,ความเบี่ยงเบนมาตรฐานและใช้สถิติ T-test เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคะแนนก่อนและหลังให้ความรู้ ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยจิตเวช ที่ได้รับการสอนการดูแลอนามัยช่องปาก มีความรู้เรื่องข้อปฏิบัติในการดูแลป้องกันโรคฟันผุและโรคเหงือกอักเสบ มากกว่าก่อนสอนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ P‹ 0.001,จำนวนผู้ป่วยจิตเวชที่ปฏิบัติกิจกรรมแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนการดำเนินงาน35.08 %,ผู้ป่วยจิตเวชที่แปรงฟันได้ถูกวิธีหลังสอนมีจำนวน 24.33 % เพิ่มขึ้น จากเดิม 14.06 %,ผลการศึกษาความพึงพอใจของผู้ป่วยจิตเวช ต่อการจัดให้มีการแปรงฟัน พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่พึงพอใจต่อการดูแลให้มีการแปรงฟัน คิดเป็น86.69% และโดยเหตุผลส่วนใหญ่คือ เพราะทำให้รู้สึกปากสะอาด และผลการศึกษาความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ต่อโครงการ พบว่า ข้อดีหรือจุดเด่นของโครงการ ส่วนมากตอบว่าทำให้สุขภาพช่องปากผู้ป่วยดีขึ้น 78.26 % รองลงมาคือทำให้ผู้ป่วยมีความรู้ในการดูแลสุขภาพช่องปากเพิ่มมากขึ้น 39.13% และทำให้กลิ่นปากลดลงหรือไม่มี ทำให้น่าคุยและน่าสร้างสัมพันธภาพด้วย 34.78% ตามลำดับ ข้อเสียของโครงการ ส่วนมากตอบว่า ไม่มีข้อเสีย 43.47 % รองลงมาคือขนแปรงแข็งเกินไป 21.74 % และคนไข้บางคนที่ไม่รู้เรื่องทำให้ยากต่อการนำผู้ป่วยปฏิบัติกิจกรรมแปรงฟัน 13.04% ตามลำดับ ข้อเสนอแนะและข้อควรปรับปรุง ส่วนมากตอบว่าโครงการนี้เหมาะสมแล้ว ควรทำต่อเนื่องตลอดไป และยาสีฟันควรเบิกเพิ่มได้ถ้าไม่พอ39.13%รองลงมาคือแปรงสีฟันควรให้มีคุณภาพมากกว่านี้ 34.78 % วิจารณ์และสรุป จากผลการศึกษาทั้งหมดทำให้ผู้ป่วยจิตเวชมีความรู้,อนามัยช่องปาก และการแปรงฟันที่ถูกวิธีเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยมีความคิดเห็น ส่วนมากพอใจต่อโครงการและรู้สึกว่าผู้ป่วยมีอนามัยช่องปากดีขึ้น มีกลิ่นปากลดลง ทำให้น่าคุย น่าสร้างสัมพันธภาพด้วย ดังนั้นจึงก่อให้เกิดผลดีต่อการรักษาทางจิตเวชเพราะการสร้างสัมพันธภาพเป็นกุญแจสำคัญสำหรับกระบวนการพยาบาล

Keywords: dental, psychiatry, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ทันตกรรม, ผู้ป่วยใน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2540

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 300400000012

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -