ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ศิริพร ทองบ่อ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาสภาพการดำเนินงานสุขภาพจิตในหน่วยงานสาธารณสุข

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย เรื่อง การสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาผู้ป่วยในเรื้อรังของโรงพยาบาลจิตเวช ที่อยู่รักษาติดต่อกันตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป พ.ศ. 2534

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพการดำเนินงานสุขภาพจิต ในหน่วยงานสาธารณสุขเขต 6 ระดับ รพศ./รพท./รพช. และปัญหา ความต้องการการสนับสนุนการดำเนินงาน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือ บุคลากรสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงาน ด้านสุขภาพจิตในหน่วยงานสาธารณสุข ระดับ รพศ./รพท./รพช. ทุกตำแหน่งในเขต 6 จำนวน 133 คน โดยได้มาจากบัญชีรายชื่อผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิตในหน่วยงานสาธารณสุข ที่ผู้วิจัยได้สำรวจและจัดทำขึ้น ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือน กรกฎาคม 2541 ถึงเดือน สิงหาคม 2541 โดยใช้แบบสอบถามซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป ส่วนที่ 2 สภาพการดำเนินงานสุขภาพจิตในหน่วยงานสาธารณสุขเขต 6 และส่วนที่ 3 ปัญหา อุปสรรค ความต้องการสนับสนุนในการดำเนินงาน แบบสอบถามดังกล่าว ได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 6 ท่าน และทดสอบความเที่ยงของแบบสอบถามโดยวิธีหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่า ของ ครอนบาค (Cronbach’s alpha coefficient) ในส่วนที่ 2 ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.93 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ด้วยค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยสุรปได้ดังนี้ 1. สภาพการดำเนินงานสุขภาพจิตของหน่วยงานสาธารณสุขเขต 6 มีการดำเนินงานในกิจกรรมด้านบริการมากที่สุด (X = 1.46,S.D. = 0.55) รองลงมาคือ กิจกรรมด้านบริหาร (X = 1.27, S.D. = 0.69) และกิจกรรมด้านวิชาการ (X = 0.79, S.D. = 0.54) โดยกิจกรรมในแต่ละด้านดังกล่าวพบว่า มีการดำเนินงานดังต่อไปนี้ 1.1 กิจกรรมด้านบริหาร ที่มีการปฏิบัติเป็นประจำมากที่สุด คือการกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิตโดยเฉพาะ ส่วนที่ไม่ได้มีการดำเนินการเลยที่พบมากที่สุดคือ การจัดให้มีคู่มือการปฏิบัติงานสุขภาพจิต 1.2 กิจกรรมด้านบริการพบว่า มีการจัดบริการครอบคลุมทั้งด้านส่งเสริมสุขภาพจิต การป้องกันปัญหาสุขภาพจิต การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยกิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นการให้ความรู้สุขภาพจิต การตรวจรักษาผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งร่วมกับผู้รับบริการทั่วไป การให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและญาติเกี่ยวกับแหล่งสนับสนุนในชุมชน ที่จะสามารถขอความช่วยเหลือได้ แต่ที่ไม่ได้มีการดำเนินการเลยที่พบมากที่สุดคือ การจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการดูแลสุขภาพจิตที่มีในหน่วยงาน การให้บริการการปรึกษาทางโทรศัพท์ บริการคลายเครียด การประเมินผลการรักษาผู้ป่วยจิตเวช และการประสานงานกับหน่วยงาน /องค์กร ในชุมชนเพื่อช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชด้านอาชีพ 1.3 กิจกรรมด้านวิชาการ ที่มีการปฏิบัติเป็นประจำมากที่สุดคือ การส่งบุคคลเข้าร่วมประชุมสัมมนา / อบรมด้านความรู้ด้านสุขภาพจิต การจัดทำเอกสารเผยแพร่ความรู้สุขภาพจิต ส่วนที่ไม่ได้มีการดำเนินการเลยที่พบมากที่สุดคือการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพจิต 2. ปัญหา อุปสรรค และความต้องการสนับสนุน ในการดำเนินงานสุขภาพจิต พบว่า ปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นด้านบุคลากรที่มีจำนวนน้อย รับผิดชอบหลายหน้าที่งบประมาณจำกัด สื่อต่าง ๆ ไม่เพียงพอทั่วถึง ความไม่ชัดเจนของนโยบาย / แผนงานด้านสุขภาพจิต ผู้บริหารตลอดจนบุคลากรในหน่วยงาน ไม่เห็นความสำคัญของงานสุขภาพจิต และขาดความรู้ในบางเรื่อง เช่น การให้การปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ส่วนความต้องการการสนับสนุน ส่วนใหญ่ต้องการฟื้นฟูความรู้ด้านสุขภาพจิต สนับสนุนด้านงบประมาณ สื่อทางวิชาการ รวมทั้งคู่มือการปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิต ผลจากการวิจัยครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงสภาพการดำเนินงานสุขภาพจิต ในหน่วยงานสาธารณสุข ระดับ รพศ./รพท./รพช. ตลอดจน ปัญหา อุปสรรค ที่เกิดขึ้น ที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว และครอบคลุมในกิจกรรมต่าง ๆ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรร่วมมือกันในการสนับสนุนส่งเสริม ให้ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิต สามารถดำเนินงานได้ด้วยความมั่นใจ ความเพียงพอในด้านงบประมาณ สิ่งสนับสนุนอื่น ๆ ตลอดจนความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อันจะเป็นแรงจูงใจที่ดีในการทำงาน

Keywords: community, psychiatry, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ชุมชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: เอกสารการวิจัยเรื่องการศึกษาสภาพการดำเนินงานสุขภาพจิตในหน่วยงานสาธารณสุข,พ.ศ. 2541

Code: 300410000001

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -