ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ขนิษฐา บำเพ็ญผล

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาผู้ป่วยนิติจิตเวชคดีฆ่าบุพการี

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2536

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ ในการรวบรวมข้อมูลจากแฟ้มประวัติผู้ป่วย และเอกสารที่เกี่ยวข้อง 1. ศึกษาลักษณะทั่วไปของผู้กระทำผิดฐานฆ่าบุพการีส่งตัวมาตรวจวินิจฉัย ณ โรงพยาบาลนิติจิตเวช 2. ศึกษาพฤติกรรมขณะเกิดคดีและมูลเหตุจูงใจในการฆ่า เพื่อหาแนวทางป้องกัน สำหรับผู้ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วย วิธีการวิจัย การรวบรวมข้อมูล ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. กำหนดแบบฟอร์มซึ่งเป็นลักษณะข้อคำถามที่เป็นกุญแจสำคัญในการรวบรวมข้อมูลจากแฟ้มทะเบียนประวัติ และจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง 2. ตรวจสอบรายชื่อผู้ป่วยที่รับไว้ระหว่างปี พ.ศ. 2514 ถึง พ.ศ. 2534 ที่กระทำผิดฐานฆ่าบุพการี จากสมุดทะเบียนรับผู้ป่วยคดีของงานเวชระเบียนและสถิติ 3. ศึกษาแฟ้มทะเบียนรายงานผู้ป่วยโดยละเอียดตามบัญชีรายชื่อที่รวบรวมมาได้ เพื่อเตรียมบันทึกข้อมูล 4. ดำเนินการบันทึกข้อมูลลงในแบบฟอร์มที่กำหนดไว้ 5. รวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อเตรียมการวิเคราะห์ การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้วิธีการบรรยายในรูปความถี่ ตาราง และร้อยละ กลุ่มตัวอย่าง คือ เป็นผู้กระทำผิดฐานฆ่าบุพการีที่รับไว้เป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลนิติจิตเวชในระหว่างปี พ.ศ. 2514 ถึง พ.ศ. 2534 จำนวน 45 ราย เป็นเพศชาย 37 ราย เพศหญิง 8 ราย เครื่องมือ ที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล คือแบบสำรวจข้อมูลที่สร้างขึ้นประกอบด้วยข้อคำถามที่เป็นกุญแจสำคัญ ผลการวิจัย พบว่า 1. ผู้กระทำผิดฐานฆ่าบุพการีมีอายุเฉลี่ย 27.9 ปี ส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับประถมศึกษา ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สถานภาพสมรสโสด และมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด 2. การกระทำผิดของกลุ่มตัวอย่างพบว่ามูลเหตุจูงใจในการฆ่าเกิดจากการถูกขัดใจ ถูกตักเตือน ดุด่า และถูกบังคับนอกจากนี้เกิดจากการทะเลาะวิวาท และการมีเสียงสั่งให้ฆ่า 3. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถูกส่งมาเพื่อตรวจวิเคราะห์สภาพจิต และรักษาตามกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญามาตรา 65 สำหรับการวินิจฉัยทางกฎหมาย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยว่าวิกลจริต ส่วนการวินิจฉัยทางคลินิก ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตชนิดจิตเภท และจากการติดตามผลที่สุดของคดี พบว่าศาลมีคำสั่งให้รักษาตัวในโรงพยาบาลมากที่สุด รองลงมาคือไม่ฟ้อง ยกฟ้อง และปล่อยตัว 4. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยมีประวัติการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชมาก่อน บางรายได้สารเสพติดร่วมด้วย สำหรับระยะเวลาที่รักษาตัวในโรงพยาบาลนิติจิตเวช ใช้เวลาระหว่าง 1-2 ปี มากที่สุด รองลงมาคือระหว่าง 3-5 ปี และต่ำกว่า 1 ปี ตามลำดับ 5. จากการทดสอบทางจิตวิทยาด้วยเครื่องมือทดสอบชนิดต่าง ๆ เพื่อช่วยในการตรวจวินิจฉัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีระดับเชาวน์ปัญญาค่อนข้างทึบ มีความผิดปกติทางจิตใจชัดเจน มีบุคลิกภาพแบบก้าวร้าว เก็บกด และมีความผิดปกติทางอารมณ์ชัดเจน มีการแสดงออกที่รุนแรงควบคุมไม่ได้ ข้อเสนอแนะ 1. จากการที่ได้พบว่าผู้ที่กระทำผิดฐานฆ่าบุพการีมีความผิดปกติทางจิตใจและบุคลิกภาพ จึงมีความจำเป็นในการดำเนินงานเผยแพร่ความรู้ การส่งเสริมสุขภาพจิต การอบรมเลี้ยงดูเด็ก สุขภาพจิตในครอบครัว ให้เผยแพร่ในประชากรทุกกลุ่ม 2. ควรให้ความรู้แก่ญาติเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช เช่น สาเหตุการดำเนินโรค วิธีรักษา การพยากรณ์โรค ถ้าญาติมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมากขึ้น จะทำให้มีเจคติที่ดีต่อผู้ป่วย สามารถดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น รวมทั้งหาวิธีป้องกันการถูกทำร้ายหรือการฆาตกรรมจากผู้ป่วยด้วย 3. จากการที่ได้พบว่าผู้รับเคราะห์มักมีส่วนร่วมที่ทำให้เกิดการฆาตกรรมขึ้น โดยเฉพาะสาเหตุจากการทะเลาะวิวาท ดังนั้นการป้องกันที่สามารถทำได้ จึงควรขจัดสิ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยโกรธ หลีกเลี่ยงการถกเถียงต่าง ๆ ในกรณีที่ผู้ป่วยกำลังอยู่ในภาวะหลงผิดอย่างรุนแรงมีการเตรียมอาวุธ และก้าวร้าว ควรนำส่งโรงพยาบาลจิตเวชโดยเร็วที่สุด 4. กระตุ้นเตือนให้ผู้ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วย ตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ตลอดจนพยายามให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงจากสารเสพติด สิ่งยั่วยุ และอาวุธต่าง ๆ

Keywords: forensic, forensic psychiatry, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, นิติจิตเวช

ปีที่เผยแพร่/Year: 2536

Address: โรงพยาบาลนิติจิตเวช กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 301360000018

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -